คุณจะปรับตัวเข้ากับประชาคมใหม่ได้ยังไง?
คุณเคยย้ายไปประชาคมใหม่ไหม? ถ้าเคย คุณคงเห็นด้วยกับคำพูดของฌองชาลส์ที่บอกว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะปรับตัวให้เข้ากับประชาคมใหม่และในเวลาเดียวกันก็ต้องดูแลความเชื่อของคนในครอบครัวด้วย” นอกจากต้องหางานใหม่ ที่พักใหม่ และโรงเรียนใหม่แล้ว คนที่ย้ายประชาคมใหม่อาจต้องรับมือกับสภาพอากาศที่ไม่เคยเจอมาก่อน รวมถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไปและเขตประกาศใหม่ ๆ ด้วย
นิโคลัสกับเซลีนต้องรับมือกับข้อท้าทายที่ต่างออกไป พวกเขาถูกมอบหมายจากสาขาฝรั่งเศสให้ย้ายไปประชาคมใหม่ พวกเขาบอกว่า “ตอนแรกเราตื่นเต้นมาก แต่หลังจากนั้นเราก็เริ่มคิดถึงเพื่อนของเรา เรายังไม่สนิทกับพี่น้องในประชาคมใหม่เลย” a เมื่อเจอข้อท้าทายแบบนี้ คุณจะมีความสุขและช่วยประชาคมใหม่ที่คุณย้ายไปได้ยังไง? พี่น้องคนอื่น ๆ จะช่วยพี่น้องที่เพิ่งย้ายมาในประชาคมได้ยังไง? และเมื่อคุณย้ายไปประชาคมใหม่แล้ว คุณจะรับกำลังใจจากพี่น้องที่นั่นและให้กำลังใจกับพวกเขาได้ยังไง?
หลักการ 4 อย่างที่ช่วยให้คุณรับมือได้
1. พึ่งพระยะโฮวา (สด. 37:5) คาซึมิที่อยู่ในญี่ปุ่นต้องย้ายออกจากประชาคมที่เคยอยู่มา 20 ปีเพราะสามีถูกบริษัทส่งไปทำงานที่ใหม่ แล้วเธอ “ให้พระยะโฮวาชี้ทางให้ [เธอ]” ยังไง? เธอบอกว่า “ฉันอธิษฐานระบายความรู้สึกที่อยู่ในใจทุกอย่างให้กับพระยะโฮวา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ฉันกลัว เหงา หรือกังวล ทุกครั้งที่ฉันทำแบบนี้ พระยะโฮวาก็จะช่วยให้ฉันเข้มแข็งเสมอ”
คุณจะพึ่งพระยะโฮวามากขึ้นได้ยังไง? เหมือนกับต้นไม้ที่ต้องได้รับน้ำและสารอาหารจากดินเพื่อหล่อเลี้ยงให้มันเติบโตขึ้นได้ ความเชื่อของเราก็ต้องได้รับการหล่อเลี้ยงเพื่อที่ความเชื่อของเราจะเข้มแข็งขึ้น นิโคลัสที่พูดถึงก่อนหน้านี้บอกว่าการคิดใคร่ครวญตัวอย่างของคนที่เสียสละหลายอย่างเพื่อจะทำตามความต้องการของพระยะโฮวา เช่น อับราฮัม พระเยซู และเปาโลช่วยเขาได้มาก ตัวอย่างเหล่านี้ช่วยให้เขามั่นใจว่าพระยะโฮวาจะช่วยเขา
แน่นอน ถ้าคุณศึกษาส่วนตัวเป็นประจำ นี่จะช่วยให้คุณรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตและทำให้คุณมีอะไรดี ๆ ไปแบ่งปันกับพี่น้องในประชาคมใหม่2. อย่าเปรียบเทียบ (ปญจ. 7:10) จูลส์ต้องปรับตัวกับวัฒนธรรมใหม่ที่ต่างไปจากเดิมมากตอนที่เขาย้ายจากเบนินไปอเมริกา เขาบอกว่า “เวลาผมแนะนำตัวกับใคร ผมต้องเล่าเรื่องตัวเองให้พวกเขาฟังทุกครั้ง” นี่เป็นวัฒนธรรมที่ต่างจากที่เขาเคยอยู่ ก็เลยทำให้เขาไม่อยากสุงสิงกับพี่น้องในประชาคมใหม่ แต่หลังจากที่ได้รู้จักพี่น้องดีขึ้นแล้ว มุมมองของเขาก็เปลี่ยนไป เขาบอกว่า “ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน คนเราก็เหมือนกัน แต่แค่มีวิธีแสดงออกไม่เหมือนกันเท่านั้น” ให้เราแต่ละคนยอมรับความแตกต่างของกันและกัน อย่าเปรียบเทียบพี่น้องในประชาคมใหม่กับพี่น้องในประชาคมเดิมที่คุณเคยอยู่ พี่น้องหญิงไพโอเนียร์คนหนึ่งที่ชื่อแอนลีซบอกว่า “ฉันไม่ได้ย้ายมาเพื่อจะได้เจออะไรเดิม ๆ แต่คาดหมายว่าจะได้เจออะไรใหม่ ๆ”
ผู้ดูแลก็ไม่ควรเปรียบเทียบประชาคมใหม่กับประชาคมเดิมที่เขาเคยอยู่ การที่พี่น้องในประชาคมใหม่ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่เหมือนกับประชาคมเดิมที่คุณเคยอยู่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาทำอะไรผิด ดังนั้น เป็นเรื่องฉลาดที่จะเรียนรู้สภาพการณ์ท้องถิ่นก่อนที่คุณจะให้ข้อเสนอแนะ (ปญจ. 3:1, 7ข) แทนที่จะให้พี่น้องทำตามความคิดของคุณ ดีกว่าที่คุณจะวางแบบอย่างที่ดีให้กับพวกเขา—2 คร. 1:24
3. ใช้เวลากับพี่น้องและมีส่วนร่วมกับประชาคมใหม่ (ฟป. 1:27) การย้ายไปอยู่ที่ใหม่อาจต้องใช้เวลาและทำให้เหนื่อยมาก ๆ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญมากด้วยที่จะเข้าร่วมการประชุมกับประชาคมใหม่ให้เร็วที่สุด และถ้าทำได้ก็ให้ไปที่หอประชุม ถ้าคุณไม่ไปประชุมพี่น้องจะรู้จักและช่วยเหลือคุณได้ยังไง? ลูซินด้ากับลูกสาว 2 คนย้ายไปอยู่ที่เมืองใหญ่เมืองหนึ่งในแอฟริกาใต้ เธอบอกว่า “เพื่อน ๆ แนะนำให้ฉันพยายามทำความรู้จักและสนิทกับพี่น้องในประชาคมใหม่ ให้ออกไปประกาศด้วยกัน และออกความเห็นในการประชุมด้วย เรายังบอกพี่น้องด้วยว่าสามารถใช้บ้านของเราเป็นที่ประชุมเพื่อการประกาศได้”
การทำกิจกรรม “เคียงบ่าเคียงไหล่” กับพี่น้องในประชาคมใหม่จะช่วยให้คุณให้กำลังใจพี่น้องและทำให้ตัวคุณเองเข้มแข็งด้วย แอนลีซที่พูดถึงก่อนหน้านี้ได้รับคำแนะนำจากผู้ดูแลให้พยายามประกาศคู่กับพี่น้องหลาย ๆ คน ผลเป็นยังไง? เธอบอกว่า “ฉันเห็นเลยว่าการทำแบบนี้ ช่วยให้ฉันรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม” นอกจากนั้น ถ้าคุณอาสาที่จะช่วยงานต่าง ๆ เช่น ทำความสะอาดหรือบำรุงรักษาหอประชุม คุณก็กำลังทำให้พี่น้องเห็นว่าคุณมองว่านี่เป็นประชาคมของคุณด้วย และยิ่งคุณมีส่วนร่วมกับการทำงานต่าง ๆ คุณก็จะยิ่งมีความสุขและรู้สึกว่าพี่น้องในประชาคมใหม่เป็นครอบครัวของคุณ
4. หาเพื่อนใหม่ (2 คร. 6:11-13) การแสดงความสนใจพี่น้องเป็นส่วนตัวคือวิธีที่ดีที่สุดที่จะเป็นเพื่อนกับพวก เขา ดังนั้น ให้ใช้เวลาก่อนและหลังการประชุมพูดคุยกับพี่น้องและรู้จักพวกเขาให้ดีขึ้น พยายามรู้จักชื่อของพวกเขาแต่ละคน เมื่อคุณจำชื่อพี่น้องได้ พวกเขาจะรู้สึกว่าคุณอยากเป็นเพื่อนกับพวกเขาและเป็นคนที่เข้าหาได้ง่าย แล้วพวกเขาก็จะอยากรู้จักคุณและอยากเป็นเพื่อนกับคุณ
แทนที่จะเป็นห่วงมากเกินไปว่าคุณจะได้รับการยอมรับจากพี่น้องหรือเปล่า ให้พยายามทำให้พี่น้องในประชาคมใหม่รู้ว่าคุณเป็นคนยังไงจริง ๆ ให้คุณลองทำเหมือนลูซินด้า เธอบอกว่า “เรามีเพื่อนสนิทหลายคนเพราะเราเป็นฝ่ายริเริ่มที่จะชวนพี่น้องมาเที่ยวที่บ้านของเรา”
“ต้อนรับกัน”
การไปประชุมในที่ที่ไม่รู้จักใครสักคนอาจเป็นเรื่องที่น่ากลัวสำหรับบางคน แล้วคุณจะทำยังไงเพื่อช่วยพี่น้องที่ย้ายเข้ามาใหม่ในประชาคมของคุณ? อัครสาวกเปาโลสนับสนุนให้เรา “ต้อนรับกัน อย่างที่พระคริสต์ต้อนรับคุณ” (รม. 15:7) ผู้ดูแลจะเลียนแบบพระเยซูโดยช่วยพี่น้องที่ย้ายมาใหม่ให้รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ (ดูกรอบ “ อะไรจะช่วยให้การย้ายเป็นไปด้วยดี?”) แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ผู้ดูแลเท่านั้นที่ทำได้ พี่น้องทุกคนในประชาคม รวมทั้งเด็ก ๆ ก็มีส่วนช่วยพี่น้องที่ย้ายมาใหม่รู้สึกว่าได้รับการต้อนรับ
นอกจากจะชวนพี่น้องมาเที่ยวที่บ้านแล้ว การต้อนรับพี่น้องยังหมายถึงการให้ความช่วยเหลือในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น พี่น้องหญิงคนหนึ่งพาพี่น้องหญิงอีกคนที่ย้ายมาใหม่ไปเที่ยวชมในเมืองและสอนให้รู้วิธีใช้รถเมล์และรถไฟ นี่เลยทำให้พี่น้องที่ย้ายมาใหม่ประทับใจมากและช่วยให้เธอรู้สึกว่าประชาคมใหม่เป็นเหมือนบ้านและช่วยให้เธอปรับตัวได้เร็วขึ้น
โอกาสที่จะรับใช้ได้มากขึ้น
ตั๊กแตนตัวเต็มวัยต้องลอกคราบหลายครั้งกว่าที่ปีกของมันจะแข็งแรงและบินได้ คล้ายกันเมื่อคุณย้ายไปประชาคมใหม่ คุณต้องขจัดความกังวลที่เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้คุณรับใช้พระยะโฮวา นิโคลัสกับเซลีนบอกว่า
“เพื่อจะปรับตัวให้เข้ากับผู้คนและสถานที่ใหม่ ๆ ได้ เราต้องปลูกฝังคุณลักษณะใหม่ของคริสเตียน” ฌองชาลส์ที่พูดถึงไปก่อนหน้านี้เล่าว่าครอบครัวของเขาได้ประโยชน์ยังไง เขาบอกว่า “การเปลี่ยนแปลงทำให้ลูก ๆ ของเราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นและสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น หลังจากที่เราย้ายมาได้ไม่กี่เดือน ลูกสาวของเราก็เริ่มทำส่วนในการประชุมกลางสัปดาห์ และลูกชายก็เป็นผู้ประกาศที่ยังไม่รับบัพติศมา”แล้วถ้าคุณไม่สามารถย้ายไปที่ไหนได้ เช่น คุณอยากย้ายไปช่วยในเขตที่มีความต้องการผู้ประกาศมากกว่าแต่สภาพการณ์ของคุณไม่เอื้ออำนวย คุณจะทำอะไรได้บ้าง? คุณอาจทำอะไรใหม่ ๆ ในประชาคมและเอาคำแนะนำที่พูดถึงในบทความนี้ไปใช้ อย่างเช่น พึ่งพระยะโฮวา พยายามมีส่วนในประชาคมมากขึ้นโดยทำงานกับพี่น้องคนอื่น ๆ หาเพื่อนใหม่ ๆ หรือเป็นเพื่อนที่ดีขึ้น นอกจากนั้น คุณจะช่วยพี่น้องที่เพิ่งรับบัพติศมาหรือพี่น้องที่มีความจำเป็นได้ไหม? เนื่องจากความรักเป็นสิ่งที่ช่วยให้รู้ว่าใครเป็นคริสเตียนแท้ การที่คุณช่วยพี่น้องก็ยิ่งทำให้คุณสนิทกับพระยะโฮวามากขึ้น (ยน. 13:35) คุณมั่นใจได้เลยว่า “พระเจ้าพอใจเครื่องบูชาแบบนั้น”—ฮบ. 13:16
แม้จะมีข้อท้าทายมากมาย แต่พี่น้องหลายคนก็มีความสุขและเกิดผลแม้พวกเขาจะย้ายไปอยู่ประชาคมใหม่ คุณก็ทำได้เหมือนกัน แอนลีซบอกว่า “การย้ายไปอยู่ประชาคมใหม่ช่วยให้ฉันเปิดใจให้กว้างขึ้น” ส่วนคาซึมิก็มั่นใจว่า “การย้ายประชาคมทำให้คุณได้เห็นด้วยตัวเองว่าพระยะโฮวาช่วยคุณมากกว่าที่เคยเป็นมา” แล้วจูลส์ล่ะ? เขาบอกว่า “การที่ผมสนิทกับพี่น้องในประชาคมใหม่มากขึ้นช่วยให้ผมรู้สึกเหมือนผมอยู่บ้าน ตอนนี้ผมสนิทกับพี่น้องมาก ๆ จนคิดว่าถ้าต้องย้ายอีกรอบคงเศร้ามากจริง ๆ”
a ดูคำแนะนำในบทความ “การรับมือกับโรคคิดถึงบ้านในงานรับใช้พระเจ้า” ในหอสังเกตการณ์ 15 พฤษภาคม 1994