จากปก | คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงเราได้อย่างไร?
คัมภีร์ไบเบิลรอดจากการพยายามเปลี่ยนข่าวสาร
ปัจจัยเสี่ยง: การคุกคามจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการย่อยสลายและการต่อต้านก็ไม่สามารถทำลายคัมภีร์ไบเบิลได้ แต่ผู้คัดสำเนาและผู้แปลบางคนได้พยายามเปลี่ยนข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิล บางครั้ง พวกเขาพยายามทำให้คัมภีร์ไบเบิลสอดคล้องกับคำสอนของตัวเองแทนที่จะทำให้คำสอนของตัวเองสอดคล้องกับคัมภีร์ไบเบิล ขอมาดูบางตัวอย่าง
-
สถานที่นมัสการ: ระหว่างศตวรรษที่ 4 ถึง 2 ก่อนคริสต์ศักราช ผู้เขียนเพนทาทุกของสะมาเรียได้เพิ่มข้อความในอพยพ 20:17 ว่า “คุณควรสร้างแท่นบูชาที่อาร์การีเซม” ชาวสะมาเรียหวังจะให้พระคัมภีร์สนับสนุนการสร้างวิหารของพวกเขาที่ “อาร์การีเซม” หรือภูเขาเกริซิม
-
คำสอนเรื่องตรีเอกานุภาพ: ไม่ถึง 300 ปีหลังจากคัมภีร์ไบเบิลเขียนเสร็จ ผู้เขียนที่นับถือตรีเอกานุภาพได้เพิ่มข้อความที่ 1 ยอห์น 5:7 ว่า “ในสวรรค์ พระบิดา พระคำ และพระจิตต์บริสุทธิ์ และทั้งสามรวมเป็นหนึ่งเดียว” ข้อความนี้ไม่มีในต้นฉบับ ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลชื่อบรูซ เมตซ์เกอร์ให้ข้อสังเกตว่า ข้อความนี้ “พบบ่อยมากในชิ้นส่วนสำเนาพระคัมภีร์ละตินโบราณและละตินวัลเกตตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 เป็นต้นมา”
-
ชื่อพระเจ้า: ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลหลายคนเอาความเชื่อเรื่องโชคลางของชาวยิวมาเป็นข้ออ้างเพื่อจะลบชื่อพระเจ้าออกจากพระคัมภีร์ พวกเขาเอาตำแหน่ง เช่น “พระเจ้า” หรือ “องค์พระผู้เป็นเจ้า” มาแทนที่ชื่อพระเจ้า ซึ่ง 2 คำนี้ในคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้ใช้แค่กับพระผู้สร้างเท่านั้นแต่ยังใช้กับมนุษย์ รูปปั้นในการนมัสการเท็จ และแม้แต่กับมารด้วย—ยอห์น 10:34, 35; 1 โครินธ์ 8:5, 6; 2 โครินธ์ 4:4 *
คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาได้อย่างไร: ประการแรก แม้ผู้คัดลอกสำเนาบางคนจะไม่ใส่ใจหรือถึงกับไม่ซื่อสัตย์ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ชำนาญมากและละเอียดรอบคอบ พวกมาโซเรตคัดลอกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูในช่วงศตวรรษที่ 6 ถึง 10
คริสต์ศักราช ซึ่งเรียกกันว่าข้อความของพวกมาโซเรต พวกเขานับคำและตัวอักษรไว้เพื่อตรวจสอบว่าไม่มีอะไรผิดพลาด ตอนที่คัดลอก ถ้ามีข้อความไหนในต้นฉบับที่พวกเขาสงสัยว่าผิดพลาด พวกเขาก็จะเขียนบอกไว้ที่ขอบกระดาษ พวกมาโซเรตจะไม่แทรกข้อความเข้าไปในคัมภีร์ไบเบิล ศาสตราจารย์โมเช โกเชิน-กอตต์สไตน์ เขียนว่า “การจงใจเพิ่มข้อความอื่นเข้าไปถือเป็นความผิดร้ายแรง”ประการที่สอง สำเนาพระคัมภีร์ที่มีมากมายในทุกวันนี้ช่วยผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลอย่างมากให้เห็นจุดที่ผิดพลาด ตัวอย่างเช่น ผู้นำศาสนาสอนมาหลายศตวรรษแล้วว่าพระคัมภีร์ฉบับภาษาละตินของพวกเขาเป็นฉบับที่เชื่อถือได้ แต่จริง ๆ แล้ว ที่ 1 ยอห์น 5:7 พวกเขาได้ใส่ข้อความที่ไม่ถูกต้องลงไปตามที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ แม้แต่คัมภีร์ไบเบิลภาษาอังกฤษฉบับคิงเจมส์ ก็มีข้อความนั้นอยู่ด้วย! แต่เมื่อมีการค้นพบชิ้นส่วนสำเนาอื่น ๆ ชิ้นส่วนเหล่านั้นเผยให้เห็นอะไร? บรูซ เมตซ์เกอร์เขียนว่า “ข้อความนั้น [1 ยอห์น 5:7] ไม่มีในสำเนาโบราณภาษาอื่น ๆ เลย (เช่น ภาษาซีเรียโบราณ คอปติก อาร์มาเนีย เอธิโอเปีย อาหรับ สลาโวนิก) นอกจากภาษาละติน” ผลคือคัมภีร์ไบเบิลฉบับคิงเจมส์ ฉบับปรับปรุงใหม่และฉบับแปลอื่น ๆ ได้ตัดข้อความที่ผิดนั้นออกไป
สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่พิสูจน์ไหมว่าข่าวสารในคัมภีร์ไบเบิลยังเหมือนเดิม? เมื่อมีการค้นพบม้วนหนังสือทะเลตายในปี ค.ศ. 1947 ผู้เชี่ยวชาญได้นำข้อความภาษาฮีบรูของพวกมาโซเรตมาเทียบกับข้อความในม้วนหนังสือคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนก่อนหน้านั้น 1,000 กว่าปี สมาชิกคนหนึ่งของคณะผู้เรียบเรียงม้วนหนังสือทะเลตายสรุปว่า แค่ม้วนหนังสือม้วนเดียว “ก็ให้ข้อพิสูจน์ที่แย้งไม่ได้ว่าการถ่ายทอดข้อความของคัมภีร์ไบเบิลตลอดช่วงเวลามากกว่าพันปีโดยมือของผู้คัดลอกชาวยิวถือว่าซื่อสัตย์และละเอียดรอบคอบมาก”
ห้องสมุดเชสเตอร์ บีทตี ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ มีการจัดแสดงม้วนหนังสือพาไพรัสที่มีอายุใกล้เคียงกับหนังสือต่าง ๆ ของพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก รวมถึงสำเนาพระคัมภีร์ที่มีอายุย้อนไปถึงศตวรรษที่ 2 คริสต์ศักราชซึ่งก็แค่ประมาณ 100 ปีหลังจากคัมภีร์ไบเบิลเขียนเสร็จ พจนานุกรม ดิ แองเคอร์ ไบเบิล ให้ข้อสังเกตว่า “แม้ม้วนหนังสือพาไพรัสเหล่านั้นจะมีรายละเอียดใหม่ ๆ เกี่ยวกับข้อความต้นฉบับ แต่ก็ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าการถ่ายทอดข้อความของคัมภีร์ไบเบิลถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน”
“พูดได้อย่างมั่นใจเลยว่าไม่มีหนังสือเก่าแก่เล่มไหนจะถ่ายทอดมาถึงเราอย่างถูกต้องแม่นยำเท่ากับหนังสือนี้”
ผลก็คือ: อายุและจำนวนของสำเนาที่มีอยู่มากมายช่วยเสริมความน่าเชื่อถือของข้อความในคัมภีร์ไบเบิลมากขึ้น แทนที่ทำลายความน่าเชื่อถือของคัมภีร์ไบเบิล เซอร์เฟรเดอริก เคนยอนเขียนเกี่ยวกับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกว่า “ไม่มีหนังสือโบราณเล่มไหนที่มีหลักฐานสมัยโบราณมาสนับสนุนมากขนาดนี้ และผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ลำเอียงทุกคนยอมรับว่าข้อความนั้นตกทอดมาถึงเราแบบไม่ขาดตกบกพร่องเลย” สำหรับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ผู้เชี่ยวชาญชื่อวิลเลียม เฮนรี กรีนบอกว่า “พูดได้อย่างมั่นใจเลยว่าไม่มีหนังสือเก่าแก่เล่มไหนจะถ่ายทอดมาถึงเราอย่างถูกต้องแม่นยำเท่ากับหนังสือนี้”
^ วรรค 6 สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ดูภาคผนวก ก4 และ ก5 ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ ดูได้ที่ www.mr1310.com/th