การเพ่งดูโลก
การเพ่งดูโลก
▪ ระบบภูมิอากาศของโลกที่ร้อนขึ้นเป็นสิ่งที่ “เห็นได้ชัดเจน” และ “เป็นไปได้อย่างยิ่ง” ว่าเป็นผลมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เอง.—คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี), สวิตเซอร์แลนด์.
▪ ในเยอรมนี ประชากรประมาณ 1.4 ถึง 1.9 ล้านคน “ติดยารักษาโรค.” ปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงพอ ๆ กับปัญหาการพึ่งพาแอลกอฮอล์.—ทาเกซ์เชา, เยอรมนี.
▪ ในบริเตน, เด็กทารกอายุต่ำกว่าหนึ่งขวบเป็นกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการถูกฆาตกรรมมากที่สุด.—เดอะ ไทมส์, บริเตน.
▪ พรมแดนบางส่วนระหว่างสหรัฐและแคนาดามีต้นไม้และวัชพืชขึ้นหนาแน่นจนเจ้าหน้าที่ “ประสบปัญหาในการระบุแนวชายแดน.” เดนนิส ชอร์นา แห่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ถ้าคุณหาแนวชายแดนไม่เจอ คุณก็ไม่สามารถจะป้องกันชายแดนได้.”—แอสโซซิเอเตด เพรส, สหรัฐ.
ร่างกายถูกสร้างให้รักษาตัวเอง
ศาสตราจารย์กุสตาฟ โดโบส ที่ปรึกษาอาวุโสประจำโรงพยาบาลสำหรับผู้ทำงานในเหมือง ในเมืองเอสเซน เยอรมนี กล่าวว่า “อวัยวะของมนุษย์สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยที่เกิดกับอวัยวะนั้นเองได้ 60 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของอาการเจ็บป่วยทั้งหมด.” เพื่อจะรักษาตัวเองได้ กล่าวกันว่าร่างกายจะผลิตยาประมาณ 30 ถึง 40 ชนิด เช่น คอร์ติโซนและสารต่าง ๆ ที่ป้องกันนิ่วในไต. นักวิจัยเข้าใจกระบวนการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตามธรรมชาติที่ว่านั้น แต่ก็ยังมีอีกมากที่พวกเขาไม่รู้. วารสารวิทัล กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่า “มีการทำงานของปฏิกิริยาที่ซับซ้อนระหว่างฮอร์โมน, ตัวพาภูมิคุ้มกัน, และเซลล์นักฆ่า” และ “อารมณ์ความรู้สึกก็มีบทบาทสำคัญด้วย.” อย่างไรก็ตาม วารสารนี้กล่าวต่อไปว่า ความเครียดและปัญหาส่วนตัวสามารถ “ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้นานเป็นเดือน ๆ เลยทีเดียว.”
การกระจายความร่ำรวยในโลก
หนังสือพิมพ์การ์เดียน แห่งลอนดอน รายงานว่า “1% ของผู้ใหญ่ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เป็นเจ้าของความร่ำรวย 40% บนดาวเคราะห์ดวงนี้.” หนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานว่า “ผู้ที่อยู่ในสถาบันการเงินและธุรกิจอินเทอร์เน็ตเป็นผู้ที่ติดกลุ่มมหาเศรษฐีมากที่สุด.” การศึกษาวิจัยขององค์การสหประชาชาติพบว่า 37 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ร่ำรวยที่สุดอาศัยอยู่ในสหรัฐ, 27 เปอร์เซ็นต์อยู่ในญี่ปุ่น, และ 6 เปอร์เซ็นต์อยู่ในสหราชอาณาจักร. ส่วนประชากรผู้ใหญ่ในโลกอีกครึ่งหนึ่งที่ยากจนที่สุดเป็นเจ้าของความร่ำรวยไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของโลก. ตามคำกล่าวของดันแคน กรีน หัวหน้าคณะวิจัยขององค์กรการกุศลออกซ์แฟมแห่งบริเตน “ความไม่เท่าเทียมในระดับนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง. . . . เป็นไปไม่ได้ที่จะยอมรับว่าความร่ำรวยอย่างมหาศาลเช่นนั้นเป็นเรื่องสมเหตุผลเมื่อมีคน 800 ล้านคนต้องเข้านอนด้วยความหิวโหยทุกคืน.”
อัตราส่วนระหว่างเพศในจีนไม่สมดุล
ในปี 2005 อัตราส่วนระหว่างเพศของทารกในจีนคือ เด็กชาย 118 คนต่อเด็กหญิง 100 คน. หนังสือพิมพ์ไชนา เดลี รายงานว่า ในบางมณฑลของจีน “ตัวเลขดังกล่าวสูงถึง 130 ต่อ 100.” สาเหตุที่ตัวเลขต่างกันมากอย่างนี้ก็เนื่องมาจากการเลือกทำแท้งหลังจากทราบผลการตรวจเพศทารกในครรภ์. เจ้าหน้าที่ของรัฐยอมรับว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับนโยบายวางแผนครอบครัวของจีนที่จำกัดให้คู่สมรสส่วนมากที่อยู่ในเมืองใหญ่มีบุตรได้เพียงคนเดียว. หนังสือพิมพ์ฉบับนี้กล่าวว่า “เมื่อถึงปี 2020 จะมีผู้ชายในวัยแต่งงานมากกว่าผู้หญิงประมาณ 30 ล้านคน” และความไม่สมดุลเช่นนี้จะ “มีผลต่อความมั่นคงของสังคม.”