ฉันควรทำอย่างไรเมื่อพ่อแม่มีปากเสียงกัน?
หนุ่มสาวถามว่า . . .
ฉันควรทำอย่างไรเมื่อพ่อแม่มีปากเสียงกัน?
เมื่อพ่อแม่มีปากเสียงกัน คุณย่อมได้รับผลกระทบอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้. ที่จริง คุณรักท่านและคุณต้องพึ่งท่าน. ดังนั้น เมื่อท่านดูเหมือนว่าจะเข้ากันไม่ได้ ย่อมอาจก่อให้เกิดความกังวลหลายรูปแบบ. ทำไมบางครั้งจึงดูเหมือนว่าพ่อแม่คุณไม่เข้าใจกัน?
ความคิดเห็นที่ต่างกัน
พระเยซูตรัสว่าเมื่อชายและหญิงสมรสกัน พวกเขาได้กลายมาเป็น “เนื้ออันเดียวกัน.” (มัดธาย 19:5) แต่นี่หมายความว่าพ่อแม่ของคุณจะคิดเหมือนกันตลอดเวลาอย่างนั้นหรือ? ไม่เลย. ที่จริง คนสองคนไม่ว่าใครทั้งนั้น แม้แต่สามีและภรรยาซึ่งเข้ากันได้ดีย่อมมีเรื่องขัดแย้งกันบ้างเป็นครั้งคราว.
ถ้าพ่อแม่คุณมีความคิดเห็นต่างกันก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตสมรสของท่านจะแตกหัก. ถ้าจะว่าไป พ่อแม่คุณยังรักกันและกัน แม้ว่าบางครั้งพวกท่านจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกโมโห. แล้วเหตุใดท่านต้องถกเถียงกันด้วย? อาจเป็นได้ว่าพวกท่านมีทัศนะที่แตกต่างกันในบางเรื่อง. นั่นก็ไม่ได้ผิดเสมอไป หรือใช่ว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองท่านล้มเหลว.
ยกตัวอย่าง: คุณเคยดูหนังกับเพื่อนสนิท และพบว่าคุณมีความคิดเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนั้นต่างไปจากเพื่อน ๆ ไหม? นั่นเป็นเรื่องปกติ. แม้กระทั่งคนที่สนิทกันก็ยังคิดเห็นแตกต่างกัน.
เรื่องนี้ก็คงคล้ายกับกรณีของพ่อแม่คุณด้วย. บางที ทั้งสองท่านอาจเป็นห่วงเรื่องการเงินของครอบครัว แต่พ่อและแม่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีจัดสรรงบประมาณต่างกัน; ทั้งสองวางแผนพาครอบครัวไปพักร้อนแต่คิดต่างกันเรื่องจะมีรายการพักผ่อนหย่อนใจอย่างไร; หรือทั้งสองเป็นห่วงว่าคุณจะเรียนจบไหมแต่คิดต่างกันว่าจะกระตุ้นคุณวิธีไหนถึงจะดีที่สุด. ประเด็นคือ การเป็นเอกภาพไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นเหมือนกันในทุกเรื่อง. แม้กระทั่งสองคนซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยสายสัมพันธ์ทางเนื้อหนังก็ยังสามารถมองเรื่องต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน.
แต่ทำไมบางครั้งพ่อแม่ของคุณจึงปล่อยให้ความคิดที่แตกต่างเป็นเหตุให้ถกเถียงกัน? เพราะเหตุใดบางสิ่งที่ดูเหมือนไม่เป็นเรื่องในทัศนะของอีกคนหนึ่งจึงเป็นเหตุให้การพูดคุยกันกลายเป็นการโต้เถียงที่เผ็ดร้อน?
ผลกระทบของความไม่สมบูรณ์
การโต้เถียงระหว่างพ่อกับแม่หลายครั้งเกิดจากความไม่สมบูรณ์. คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า “เราต่างพลาดพลั้งกันหลายครั้ง. ถ้าผู้ใดไม่พลาดพลั้งทางวาจาเลย ผู้นั้นก็เป็นคนสมบูรณ์.” (ยาโกโบ 3:2, ล.ม.) พ่อแม่ของคุณเป็นคนไม่สมบูรณ์ และคุณเองก็เช่นกัน. บางครั้ง เราทุกคนพูดอะไรบางอย่างที่เราไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริง ๆ และบางครั้งคำพูดของเราก็อาจก่อให้เกิดความปวดร้าวเช่นกับ “การแทงของกระบี่.”—สุภาษิต 12:18.
อาจเป็นได้ว่าคุณอาจสังเกตว่ามีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นกับคุณด้วย. ยกตัวอย่าง คุณจำได้ไหมเวลาที่คุณขัดแย้งอย่างรุนแรงกับเพื่อนสนิทของคุณ? ไม่ต้องสงสัยว่าคุณคงจำได้. หญิงสาวชื่อมารียอมรับว่า “ทุกคนมีสิ่งที่ไม่เห็นพ้องต้องกันหลายเรื่อง. ที่จริง คนที่ฉันรักมากที่สุดย่อมทำให้ฉันรำคาญ มากที่สุด ซึ่งบางทีคงเป็นเพราะฉันคาดหมายจากพวกเขามาก!” * สามีและภรรยาคริสเตียนต่างก็คาดหมายจากกันและกันมากเนื่องจากคัมภีร์ไบเบิลกำหนดมาตรฐานที่สูงส่งสำหรับสามีและภรรยา. (เอเฟโซ 5:24, 25) เนื่องจากทั้งสองไม่สมบูรณ์ จึงเป็นเรื่องแน่นอนที่คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองจะทำผิดพลาดได้. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “เหตุว่าคนทั้งปวงได้ทำผิดทุกคน, และขาดการถวายเกียรติยศแก่พระเจ้า.”—โรม 3:23; 5:12.
ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีความตึงเครียดเกิดขึ้นบ้าง ระหว่างพ่อแม่ของคุณ. ที่จริง อัครสาวกเปาโลได้เขียนว่าผู้ที่สมรสแล้วย่อมประสบซึ่ง “ความลำบาก” หรือ ดังที่เดอะ นิว อิงลิช ไบเบิล แปลวลีนี้ว่าเป็น “ความทุกข์และความยุ่งยาก.” (1 โกรินโธ 7:28, ล.ม.) เจ้านายที่จู้จี้, รถติด, ใบแจ้งหนี้ที่ไม่คาดหมาย เหล่านี้คือความเครียดบางประการที่อาจทำให้มีความกดดันเกิดขึ้นภายในบ้านได้.
การที่รู้ว่าพ่อแม่ของคุณเป็นคนไม่สมบูรณ์ และบางครั้งพวกท่านอาจอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างมากย่อมจะช่วยคุณให้มองการทะเลาะด้วยความเข้าใจ. กรณีของมารีก็เป็นอย่างนั้นด้วย. “พ่อแม่ของดิฉันดูเหมือนโต้เถียงกันมากกว่าที่เคย และบางครั้งดิฉันสงสัยว่าพวกท่านคงเริ่มที่จะเบื่อกันและกัน. แต่แล้วดิฉันก็คิดได้ว่า ‘ยอมรับความเป็นจริงดีกว่า—พ่อแม่แต่งงานกันมา 25 ปีแล้วแถมยังมีลูกอีก 5 คนที่ต้องเลี้ยงดู นั่นเป็นงานหนักมิใช่น้อยเลย!’ ” บางทีคุณเองอาจแสดง “ความเห็นอกเห็นใจ” ได้เช่นกัน โดยที่คุณสำนึกว่าพ่อแม่ต้องแบกความรับผิดชอบมากมาย.—1 เป. 3:8, ล.ม.
จะรับมืออย่างไร?
คุณอาจยอมรับว่าพ่อแม่เป็นคนไม่สมบูรณ์ และคุณทราบว่าท่านต้องพบกับความกดดันต่าง ๆ ทุกวัน. แต่คำถามยังคงอยู่ คุณจะทำอะไรได้เมื่อพ่อแม่มีปากเสียงกัน? ลองทำตามข้อเสนอแนะต่อไปนี้ดูสิ:
▪ อย่าเข้าไปยุ่ง. (สุภาษิต 26:17) ไม่ใช่หน้าที่ของคุณที่จะทำตัวเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านชีวิตสมรสหรือที่จะแก้ปัญหาข้อโต้แย้งของพ่อแม่. ความพยายามใด ๆ ที่จะเข้าแทรกแซงอาจส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจเอาไว้. ชาร์ลีนอายุ 18 ปีเล่าว่า “ดิฉันเคยพยายามจะทำตัวเป็นกรรมการตัดสิน แต่พวกท่านมักจะบอกว่าอย่ามายุ่งเรื่องของท่าน.” จงปล่อยให้พ่อแม่จัดการปัญหากันเอง.
▪ จงมองเรื่องต่าง ๆ ด้วยทัศนะที่ถูกต้อง. (โกโลซาย 3:13) ดังที่กล่าวในตอนต้น ข้อเท็จจริงที่ว่า พ่อแม่ของคุณมีปากเสียงกันเป็นครั้งคราวไม่ได้หมายความโดยอัตโนมัติว่าชีวิตสมรสของท่านจวนเจียนจะแตกหักแล้ว. ดังนั้น อย่าให้การทะเลาะเบาะแว้งกันเป็นครั้งเป็นคราวของ พ่อแม่ทำให้คุณวิตกกังวลจนเกินเหตุ. เมลานีอายุ 20 ปีพูดถึงพ่อแม่ของเธอว่า “แม้ว่าพวกท่านจะทะเลาะกัน แต่ดิฉันรู้ว่าพวกท่านยังรักกันและรักครอบครัว. พวกท่านจะแก้ไขปัญหากันได้.” กรณีของพ่อแม่คุณก็น่าจะเป็นเช่นนี้ด้วย เมื่อพวกท่านมีเรื่องขัดแย้งกัน.
▪ จงอธิษฐานถึงเรื่องที่คุณกังวล. คุณไม่จำเป็นต้องเก็บงำความกังวลไว้ในใจ. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “จงทอดภาระของท่านไว้กับพระยะโฮวา, และพระองค์จะทรงเป็นธุระให้.” (บทเพลงสรรเสริญ 55:22) การอธิษฐานเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง. อัครสาวกเปาโลเขียนถึงชาวฟิลิปปอยดังนี้: “จงเสนอความปรารถนาของท่านทุกอย่างต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานกับการขอบพระคุณ. และสันติสุขแห่งพระเจ้า, ซึ่งเหลือที่จะเข้าใจได้, จะคุ้มครองใจและความคิดของท่านทั้งหลายไว้ในพระเยซูคริสต์.”—ฟิลิปปอย 4:6, 7.
▪ ดูแลตัวเองให้ดี. ไม่ฉลาดเลยที่จะเครียดกับเรื่องที่คุณควบคุมไม่ได้. ความเครียดอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “ความหนักใจทำให้คนท้อใจลง.” (สุภาษิต 12:25) จงพยายามระงับความกังวลโดยใช้เวลากับเพื่อนที่ให้กำลังใจและเข้าส่วนในกิจกรรมที่เสริมสร้าง.
▪ จงพูดคุยกับพ่อแม่. แม้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเมื่อพ่อแม่มีปากเสียงกัน แต่แน่นอนว่าคุณสามารถบอกพวกท่านให้ทราบว่าการทะเลาะกันนั้นมีผลกระทบต่อคุณอย่างไร. จงเลือกโอกาสเหมาะ ๆ ที่จะเข้าไปพูดคุยกับพ่อหรือแม่. (สุภาษิต 25:11) จงพูดด้วย “ใจสุภาพและด้วยใจยำเกรง.” (1 เปโตร 3:15) อย่ากล่าวหา ท่าน เพียงแต่อธิบาย ว่าคุณได้รับผลกระทบอย่างไรจากการที่ท่านโต้เถียงกันนั้น.
เราขอแนะนำคุณให้ลองใช้คำแนะนำข้างต้น. พ่อแม่คุณอาจตอบรับความพยายามของคุณก็ได้. หากท่านไม่ตอบรับ คุณก็ยังจะสบายใจที่รู้ว่า แม้คุณไม่อาจควบคุมพ่อแม่ได้ แต่คุณสามารถ ทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ท่านรู้ว่าคุณมีปฏิกิริยาอย่างไรเมื่อพวกท่านมีปากเสียงกัน.
ถ้าต้องการอ่านบทความชุด “หนุ่มสาวถามว่า” เพิ่มเติม ให้ดาวน์โหลดตื่นเถิด! ฉบับอื่น ๆ จากเว็บไซต์ www.mr1310.com
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 12 ชื่อต่าง ๆ ในบทความนี้เป็นนามสมมุติ.
สิ่งที่พึงใคร่ครวญ
▪ เหตุใดบางครั้งพ่อแม่จึงพบว่าไม่ง่ายที่จะเห็นพ้องต้องกัน?
▪ คุณจะพูดอะไรกับน้องซึ่งได้รับผลกระทบในทางไม่ดีจากการทะเลาะกันของพ่อแม่?
[กรอบหน้า 20]
ถึงคุณพ่อคุณแม่
ในสายสมรส ความไม่ลงรอยกันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้. อย่างไรก็ตาม คุณจะจัดการอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับคุณ. เยาวชนได้รับผลกระทบมากทีเดียวจากการที่บิดามารดาโต้เถียงกัน. นี่เป็นเรื่องที่คุณต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากชีวิตสมรสของคุณแท้ที่จริงแล้วก็คือแบบอย่างที่ลูกของคุณมักจะติดตามเมื่อพวกเขาแต่งงาน. (สุภาษิต 22:6) ทำไมไม่ลองใช้ความไม่ลงรอยกันนี้เป็นโอกาสที่จะแสดงให้ลูก ๆ เห็นวิธีที่ได้ผลในการแก้ปัญหาความขัดแย้งดูล่ะ? จงลองทำสิ่งต่อไปนี้:
จงฟัง. คัมภีร์ไบเบิลบอกเราให้ “ว่องไวในการฟัง, ช้าในการพูด, ช้าในการโกรธ.” (ยาโกโบ 1:19) อย่าเติมเชื้อเข้าไปในกองไฟ โดย ‘ทำชั่วตอบแทนชั่ว.’ (โรม 12:17) แม้ว่าคู่ของคุณดูเหมือนไม่เต็มใจจะฟัง แต่คุณ เลือกที่จะเป็นฝ่ายฟังได้.
พยายามอธิบายแทนที่จะตำหนิ. บอกคู่สมรสของคุณด้วยท่าทีที่สงบว่าความประพฤติของเขาหรือเธอมีผลกระทบต่อคุณอย่างไร. (“ผมรู้สึกไม่สบายใจเมื่อคุณ . . . ”) จงข่มความรู้สึกที่อยากกล่าวหาหรือตำหนิ. (“คุณไม่สนใจไยดีฉัน.” “คุณไม่เคยฟังฉันเลย.”)
พักยก. บางครั้งนับว่าดีที่สุดถ้าจะพักเรื่องนั้นไว้ก่อนและค่อยเริ่มพูดคุยกันใหม่เมื่ออารมณ์เย็นลง. คัมภีร์ไบเบิลบอกว่า “การเริ่มต้นชิงดีกันเปรียบเหมือนช่องรั่วแห่งหนึ่งที่ทำนบกันน้ำ; เพราะฉะนั้นจงเลิกการโต้เถียงกันเสียก่อนที่จะเกิดการทะเลาะวิวาท.”—สุภาษิต 17:14.
ขอโทษกันและกัน—และคงจะดีถ้าขอโทษลูก ๆ ด้วย. บรีแอน วัย 14 ปี บอกว่า “บางครั้งหลังจากที่พ่อแม่เถียงกัน พวกท่านจะขอโทษดิฉันและพี่ชายเพราะพวกท่านรู้ว่าเรื่องนั้นมีผลกระทบพวกเราอย่างไร.” บทเรียนที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งซึ่งคุณสามารถสอนลูก ๆ ได้ก็คือ การพูดอย่างถ่อมใจว่า “พ่อ (แม่) ขอโทษด้วย.”
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดู ตื่นเถิด! ฉบับวันที่ 8 มกราคม 2001 หน้า 8-14 และ ฉบับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1994 หน้า 3-12.
[ภาพหน้า 19]
อย่ากล่าวหา. เพียงอธิบายว่าคุณรู้สึกอย่างไร