คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงสมัยของเราโดยวิธีใด?
คัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงสมัยของเราโดยวิธีใด?
ข้อที่ว่าคัมภีร์ไบเบิลอยู่รอดมาถึงสมัยของเราโดยที่เนื้อความไม่ถูกเปลี่ยนแปลงถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ก็ว่าได้. คัมภีร์ไบเบิลเขียนเสร็จสิ้นกว่า 1,900 ปีที่แล้ว และถูกเขียนบนวัสดุที่ย่อยสลายได้ เช่น กระดาษที่ทำจากต้นอ้อพาไพรัสและแผ่นหนังสัตว์ อีกทั้งภาษาที่ใช้เขียนต้นฉบับก็เป็นภาษาที่น้อยคนในสมัยนี้จะเข้าใจ. นอกจากนั้น ผู้มีอำนาจหลายคน ตั้งแต่จักรพรรดิไปจนถึงผู้นำศาสนา ต่างมุ่งมั่นพยายามกำจัดคัมภีร์ไบเบิลให้หมดไป.
หนังสือที่น่าทึ่งนี้ผ่านพ้นกาลเวลาอันยาวนานและกลายมาเป็นหนังสือที่รู้จักกันดีที่สุดของมนุษยชาติโดยวิธีใด? ขอพิจารณาปัจจัยเพียงแค่สองประการ.
สำเนาหลายฉบับช่วยรักษาข้อความ
ชาวอิสราเอล ซึ่งเป็นผู้คุ้มครองข้อความช่วงแรกสุดของคัมภีร์ไบเบิล ได้เก็บรักษาม้วนหนังสือต้นฉบับไว้อย่างระมัดระวังและทำสำเนาไว้เป็นจำนวนมาก. ตัวอย่างเช่น เหล่ากษัตริย์แห่งชาติอิสราเอลได้รับบัญชาให้คัดลอก “พระบัญญัติเหล่านี้, ออกไว้จากหนังสือพระบัญญัติที่อยู่กับพวกปุโรหิตและพวกเลวี.”—พระบัญญัติ 17:18.
ชาวอิสราเอลหลายคนชอบอ่านพระคัมภีร์มาก และยอมรับว่าพระคัมภีร์เป็นพระคำของพระเจ้า. เพราะเหตุนี้ จึงมีการคัดลอกข้อความอย่างระมัดระวังยิ่งโดยอาลักษณ์ผู้ผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี. อาลักษณ์ผู้เกรงกลัวพระเจ้าคนหนึ่งชื่อเอษราได้รับการพรรณนาว่าเป็น “อาลักษณ์ชำนาญในบทพระบัญญัติของโมเซ, คือพระบัญญัติที่พระยะโฮวาพระเจ้าแห่งพวกยิศราเอลได้ทรงประทาน.” (เอษรา 7:6) พวกมาโซเรต ซึ่งเป็นผู้คัดลอกพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู หรือที่เรียกกันว่า “พันธสัญญาเดิม” ระหว่างศตวรรษที่หกถึงสิบ ส.ศ. ถึงกับนับจำนวนตัวอักษรเพื่อจะไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในข้อความ. การคัดลอกสำเนาอย่างพิถีพิถันเช่นนี้ช่วยทำให้มั่นใจว่าข้อความถูกต้องและรับประกันว่าคัมภีร์ไบเบิลจะอยู่รอดต่อไปแม้ศัตรูจะมุ่งมั่นทำลายพระคัมภีร์อย่างไม่ละลด.
ตัวอย่างเช่น ในปี 168 ก่อน ส.ศ. อันทิโอกุสที่ 4 ผู้ปกครองชาวซีเรียได้พยายามจะทำลายสำเนาของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูทั้งหมดที่เขาหาได้ตลอดทั่วเขตปาเลสไตน์. นักประวัติศาสตร์ชาวยิวคนหนึ่งกล่าวว่า “ม้วนหนังสือใด ๆ แห่งพระบัญญัติที่พวกเขาค้นพบ พวกเขาได้ฉีกทิ้งและเผาเสีย.” สารานุกรม เดอะ จูวิช กล่าวว่า “เหล่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำตามคำสั่งนี้ก็ได้ทำตามอย่างเข้มงวด . . . การมีหนังสือศักดิ์สิทธิ์อยู่ในครอบครอง . . . มีโทษถึงขั้นประหารชีวิต.” แต่สำเนาของพระคัมภีร์ก็ยังคงอยู่รอดได้ในท่ามกลางชาวยิวที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์และในต่างแดน.
ไม่นานหลังจากผู้บันทึกพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก หรือที่เรียกกันว่า “พันธสัญญาใหม่” เขียนเสร็จสมบูรณ์ ก็มีฉบับสำเนาของจดหมาย, คำพยากรณ์, และบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้าของพวกเขาปรากฏขึ้นอย่างมากมาย. ตัวอย่างเช่น โยฮันเขียนกิตติคุณของท่านในเมืองเอเฟโซส์หรือบริเวณใกล้เคียง. กระนั้น ชิ้นส่วนของกิตติคุณนั้นชิ้นหนึ่ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเป็นส่วนของฉบับสำเนาที่ถูกทำขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 50 ปีหลังจากที่ท่านเขียนกิตติคุณนี้ ถูกค้นพบในอียิปต์ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตร. การค้นพบนี้แสดงว่าคริสเตียนในดินแดนที่ห่างไกลก็มีสำเนาของข้อความที่มีขึ้นโดยการดลใจซึ่งเพิ่งเขียนขึ้นไม่นานก่อนหน้านั้น.
การที่พระคำของพระเจ้าแพร่หลายไปอย่างกว้างไกลจึงมีส่วนทำให้พระคำนั้นอยู่รอดมาได้หลายศตวรรษนับจากสมัยของพระคริสต์. ตัวอย่างเช่น ตอนรุ่งสางของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี ส.ศ. 303 กล่าวกันว่าดิโอเคลเชียนจักรพรรดิโรมัน ได้เฝ้าดูทหารของเขาพังประตูโบสถ์แห่งหนึ่งและเผาสำเนาหลายฉบับของพระคัมภีร์. ดิโอเคลเชียนคิดว่าเขาสามารถขจัดศาสนาคริสเตียนออกไปได้โดยทำลายข้อเขียนศักดิ์สิทธิ์ของศาสนานั้น. วันถัดมา เขาออกกฤษฎีกาว่า ให้เผาฉบับสำเนาของคัมภีร์ไบเบิลที่มีอยู่ทั้งหมดต่อหน้าสาธารณชนตลอดทั่วจักรวรรดิโรมัน. อย่างไรก็ตาม มีสำเนาบางฉบับเหลือรอดมาได้และมีการทำสำเนาเพิ่มขึ้นอีก. ที่จริง ส่วนใหญ่ของสำเนาคัมภีร์ไบเบิลในภาษากรีกสองฉบับซึ่งคงจะถูกทำขึ้นไม่นานหลังจากการข่มเหงโดยดิโอเคลเชียน
นั้นอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้. ฉบับหนึ่งอยู่ในกรุงโรม; ส่วนอีกฉบับหนึ่งอยู่ในห้องสมุดแห่งบริเตน ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ.แม้ว่ายังไม่เคยพบต้นฉบับของคัมภีร์ไบเบิล แต่สำเนาที่คัดลอกด้วยมือหลายพันฉบับของคัมภีร์ไบเบิลทั้งครบชุดหรือบางส่วน ก็อยู่รอดมาจนถึงสมัยของเรา. บางฉบับเก่าแก่มาก. ข่าวสารที่อยู่ในข้อความเดิมถูกเปลี่ยนแปลงไประหว่างการคัดลอกไหม? ผู้เชี่ยวชาญชื่อ ดับเบิลยู. เอช. กรีน กล่าวเกี่ยวกับพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูว่า “อาจกล่าวได้อย่างไม่มีข้อสงสัยว่า ไม่มีหนังสือแห่งยุคโบราณเล่มใดที่จะถูกถ่ายทอดได้อย่างถูกต้องแม่นยำเท่ากับคัมภีร์ไบเบิลอีกแล้ว.” ผู้เชี่ยวชาญระดับแนวหน้าว่าด้วยฉบับสำเนาของคัมภีร์ไบเบิลชื่อเซอร์เฟรเดอริก เคนยอน เขียนเกี่ยวกับพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกเอาไว้ว่า “ระยะห่างระหว่างเวลาเขียนข้อความต้นฉบับกับหลักฐานฉบับสำเนาเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีอยู่ปรากฏว่าน้อยมากถึงขนาดที่มองข้ามไปได้ และมูลเหตุสุดท้ายของข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าพระคัมภีร์ตกทอดมาถึงเราอย่างครบถ้วนในสาระสำคัญดังที่มีการเขียนไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่นั้นบัดนี้ถูกขจัดไปแล้ว. ทั้งความเชื่อถือได้ และความถูกต้องตามต้นฉบับโดยทั่วไป ของพระธรรมต่าง ๆ ในพันธสัญญาใหม่อาจถือว่าได้รับการพิสูจน์แล้วในที่สุด.” เขายังพูดอีกว่า “กล่าวอย่างหนักแน่นได้เลยว่า ในสาระสำคัญแล้ว ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลจริงแท้แน่นอน. . . . ไม่อาจกล่าวเช่นนี้ได้เลยกับหนังสือโบราณอื่นใดในโลก.”
การแปลคัมภีร์ไบเบิล
ปัจจัยหลักอย่างที่สองที่ช่วยให้คัมภีร์ไบเบิลกลายเป็นหนังสือที่รู้จักกันดีที่สุดของมนุษยชาติคือการที่คัมภีร์ไบเบิลหาอ่านได้ในหลายภาษา. ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ลงรอยกับพระประสงค์ของพระเจ้าที่ให้ประชาชนทุกชาติทุกภาษาได้มารู้จักและนมัสการพระองค์ “ด้วยพระวิญญาณและความจริง.”—โยฮัน 4:23, 24; มีคา 4:2.
ฉบับแปลแรกสุดของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูเท่าที่รู้จักกันคือฉบับแปลเซปตัวจินต์ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษากรีก. ฉบับแปลนี้ทำขึ้นเพื่อชาวยิวที่ใช้ภาษากรีกซึ่งอาศัยอยู่นอกเขตปาเลสไตน์ และทำเสร็จสมบูรณ์ราว ๆ สองศตวรรษก่อนงานรับใช้ทางแผ่นดินโลกของพระเยซู. คัมภีร์ไบเบิลครบชุด รวมทั้งพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษาภายในไม่กี่ศตวรรษหลังจากเขียนเสร็จ. แต่ในเวลาต่อมา บรรดากษัตริย์และแม้แต่พวกบาทหลวง ซึ่งควรจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อเผยแพร่คัมภีร์ไบเบิลให้ไปถึงมือประชาชนโดยทั่วไป กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามเลยทีเดียว. พวกเขาพยายามทำให้ประชาชนของตนอยู่ในความมืดฝ่ายวิญญาณต่อ ๆ ไป โดยไม่ยอมให้มีการแปลพระคำของพระเจ้าเป็นภาษาที่ผู้คนทั่วไปใช้กัน.
โดยท้าทายอำนาจคริสตจักรและรัฐ เหล่าคนที่กล้าหาญได้เสี่ยงชีวิตของตนเพื่อแปลคัมภีร์ไบเบิลเป็นภาษาที่ผู้คนทั่วไปอ่านได้. ตัวอย่างเช่น ในปี 1530 วิลเลียม ทินเดล ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับการศึกษาที่ออกซฟอร์ด ได้ผลิตพระคัมภีร์ฉบับหนึ่งซึ่งมีเพนทาทุก หรือพระธรรมห้าเล่มแรกของพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู. แม้ว่าจะถูกต่อต้านอย่างหนัก แต่เขาก็เป็นคนแรกที่แปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษาฮีบรูเป็นภาษาอังกฤษโดยตรง. ทินเดลยังเป็นผู้แปลภาษาอังกฤษคนแรกที่ใช้พระนามยะโฮวา (Jehovah) อีกด้วย. ผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลชื่อกาซีโอโดโร เด เรย์นา ชาวสเปนต้องเสี่ยงชีวิตอยู่เสมอ ๆ เนื่องจากถูกชาวคาทอลิกข่มเหง เมื่อเขาทำการผลิตหนึ่งในคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลฉบับแรก ๆ ในภาษาสเปน. เขาเดินทางไปอังกฤษ, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, ฮอลแลนด์, และสวิตเซอร์แลนด์ขณะที่เขาทำงานจนฉบับแปลนั้นแล้วเสร็จ. *
ปัจจุบัน คัมภีร์ไบเบิลยังคงได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก และมีการจัดพิมพ์ออกไปหลายล้านฉบับ. การอยู่รอดของคัมภีร์ไบเบิลจนกลายมาเป็นหนังสือที่รู้จักกันดีที่สุดของมนุษยชาติแสดงให้เห็นความจริงของถ้อยคำของอัครสาวกเปโตรที่มีขึ้นโดยการดลใจที่ว่า “ต้นหญ้าเหี่ยวแห้งไป และดอกก็ร่วงโรยไป แต่คำตรัสของพระยะโฮวาดำรงอยู่เป็นนิตย์.”—1 เปโตร 1:24, 25.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 14 ฉบับแปลของเรย์นาได้รับการจัดพิมพ์ในปี 1569 และได้รับการแก้ไขปรับปรุงโดยซีปรีอาโน เด วาเลรา ในปี 1602.
[กรอบ/ภาพหน้า 14]
ฉันควรอ่านฉบับแปลใด?
มีอยู่หลายภาษาที่มีคัมภีร์ไบเบิลมากมายหลายฉบับแปล. ฉบับแปลบางฉบับใช้ภาษาโบราณที่เข้าใจยาก. บางฉบับเป็นการแปลอย่างอิสระแบบถอดความซึ่งมีเจตนาเพื่อทำให้อ่านได้อย่างเพลิดเพลินมากกว่าที่จะคำนึงถึงความถูกต้องแม่นยำ. แม้กระนั้นก็ยังมีบางฉบับที่แปลตามตัวอักษร หรือเกือบจะแปลแบบคำต่อคำด้วยซ้ำ.
พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่ ภาษาอังกฤษ ซึ่งจัดพิมพ์โดยพยานพระยะโฮวา ได้รับการแปลโดยตรงจากภาษาเดิมโดยคณะกรรมการที่ไม่ประสงค์จะออกนาม. ต่อมาฉบับแปลนี้ได้กลายมาเป็นพื้นฐานสำหรับการแปลคัมภีร์ไบเบิลในภาษาอื่น ๆ อีกประมาณ 60 ภาษา. อย่างไรก็ดี บรรดาผู้แปลของภาษาเหล่านั้นได้ทำการเปรียบเทียบอย่างละเอียดกับข้อความในภาษาเดิม. ฉบับแปลโลกใหม่ มุ่งเป้าเพื่อแปลข้อความภาษาเดิมตามตัวอักษรตราบใดที่การแปลเช่นนั้นจะไม่ปิดบังความหมายที่แท้จริง. คณะผู้แปลพยายามทำให้คัมภีร์ไบเบิลเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้อ่านในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ข้อความเดิมเป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้อ่านในสมัยคัมภีร์ไบเบิล.
นักภาษาศาสตร์บางคนได้ตรวจสอบคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลสมัยปัจจุบันหลายฉบับ รวมทั้งฉบับแปลโลกใหม่ ด้วย เพื่อจะหาตัวอย่างการแปลที่ผิดพลาดและการแปลอย่างมีอคติ. หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นคือเจสัน เดวิด เบดุน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาศาสนศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นแอริโซนา สหรัฐอเมริกา. เมื่อปี 2003 เขาได้ตีพิมพ์บทวิจัยที่มีความยาว 200 หน้าเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลต่าง ๆ เก้าฉบับ “ที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมากที่สุดในประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ.” * การศึกษาวิจัยของเขาได้ตรวจสอบข้อความคัมภีร์ไบเบิลบางตอนที่พวกผู้เชี่ยวชาญถกเถียงกันอย่างมากในเรื่องความหมาย เนื่องจากในข้อความเหล่านี้เองซึ่ง “เป็นได้มากที่สุดที่ความลำเอียงจะเข้ามามีอิทธิพลต่อการแปล.” สำหรับข้อความแต่ละตอน เขายกข้อความภาษากรีกมาเทียบกับคำแปลของฉบับแปลภาษาอังกฤษแต่ละฉบับ และมองหาความพยายามซึ่งเกิดจากความลำเอียงที่จะเปลี่ยนความหมายของข้อความนั้น. เขาประเมินผลออกมาอย่างไร?
เบดุนชี้ว่า ผู้คนทั่วไปและผู้เชี่ยวชาญด้านคัมภีร์ไบเบิลหลายคนสันนิษฐานว่าความต่างในฉบับแปลโลกใหม่ (ล.ม.) นั้นเป็นเพราะความลำเอียงทางศาสนาของคณะผู้แปล. อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่า “ความต่างส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากฉบับแปลโลกใหม่มีความถูกต้องแม่นยำมากกว่า ในฐานะเป็นฉบับแปลที่มีการแปลตามตัวอักษรอย่างระมัดระวัง.” แม้เบดุนไม่เห็นด้วยกับการแปลข้อความบางตอนของฉบับแปลโลกใหม่ แต่เขาก็พูดว่าฉบับแปลนี้ “ปรากฏว่าเป็นฉบับแปลที่ถูกต้องแม่นยำมากที่สุดในบรรดาฉบับแปลทั้งหมดที่ถูกนำมาเปรียบเทียบกัน.” เขาเรียกฉบับแปลนี้ว่า “ดีอย่างน่าทึ่ง.”
ดร. เบนจามิน เคดาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาฮีบรูในอิสราเอล พูดถึงฉบับแปลโลกใหม่ ในทำนองคล้าย ๆ กัน. เมื่อปี 1989 เขากล่าวว่า “ผลงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นความพยายามอย่างซื่อสัตย์ที่จะได้มาซึ่งความเข้าใจข้อความอย่างถูกต้องแม่นยำมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้. . . . ข้าพเจ้าไม่เคยพบว่ามีการจงใจบรรจุสิ่งใด ๆ ซึ่งไม่มีอยู่ในต้นฉบับเข้าไว้ในฉบับแปลโลกใหม่ เนื่องจากความลำเอียง.”
คุณควรถามตัวเองว่า ‘เป้าหมายของฉันในการอ่านคัมภีร์ไบเบิลคืออะไร? ฉันต้องการอ่านแบบง่าย ๆ โดยไม่สนใจความถูกต้องแม่นยำไหม? หรือฉันต้องการอ่านเพื่อเข้าถึงแนวคิดดั้งเดิมของต้นฉบับที่มีขึ้นโดยการดลใจอย่างถ่องแท้ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้?’ (2 เปโตร 1:20, 21) เป้าหมายของคุณควรกำหนดว่าคุณจะเลือกอ่านคัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลใด.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 22 นอกจากฉบับแปลโลกใหม่ แล้วก็ยังมี ดิ แอมพลิไฟด์ นิว เทสตาเมนต์, เดอะ ลิฟวิง ไบเบิล, เดอะ นิว อเมริกัน วิท รีไวสด์ นิว เทสตาเมนต์, นิว อเมริกัน สแตนดาร์ด ไบเบิล, เดอะ โฮลี ไบเบิล—นิว อินเตอร์แนชันแนล เวอร์ชัน, เดอะ นิว รีไวสด์ สแตนดาร์ด เวอร์ชัน, เดอะ ไบเบิล อิน ทูเดส์ อิงลิช เวอร์ชัน และ ฉบับแปลคิงเจมส์.
[รูปภาพ]
“พระคัมภีร์บริสุทธิ์ฉบับแปลโลกใหม่” สามารถหาอ่านได้ในหลายภาษา
[ภาพหน้า 12, 13]
ฉบับสำเนาคัดลอกด้วยมือของพวกมาโซเรต
[ภาพหน้า 13]
ชิ้นส่วนฉบับสำเนาที่มีข้อความที่ลูกา 12:7 “ . . . อย่ากลัวเลย พวกเจ้ามีค่ายิ่งกว่านกกระจอกหลายตัว”
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Foreground page: National Library of Russia, St. Petersburg; second and third: Bibelmuseum, Münster; background: © The Trustees of the Chester Beatty Library, Dublin