กษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ
กษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ
โดยผู้เขียนตื่นเถิด! ในแคเมอรูน
อิบราฮิม โจยา เป็นกษัตริย์องค์ที่ 17 ของชาวบามัม ชนพื้นเมืองกลุ่มใหญ่ที่ปัจจุบันยังคงอาศัยอยู่ในแถบทุ่งหญ้าทางตะวันตกของแคเมอรูน. สุลต่านองค์นี้ปกครองตั้งแต่ปี 1889 จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 1933 ดังจะเห็นได้จากรายชื่อกษัตริย์ที่ปกครองมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ในหน้าถัดไป. ระหว่างรัชกาลของสุลต่านโจยา ฝรั่งเศสกับเยอรมนีพยายามช่วงชิงดินแดนบริเวณนี้มาเป็นอาณานิคมของตน.
ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สุลต่านโจยาได้แสดงให้เห็นว่าทรงเปี่ยมด้วยพระสติปัญญาและพระปรีชาญาณ และทรงโปรดให้มีนักปราชญ์และนักคิดค้นมากมายที่มีแนวคิดเดียวกับพระองค์อยู่ในราชสำนัก. พระราชวังอันโอ่อ่าที่ทรงสร้างขึ้นดังที่เห็นในภาพข้างล่างนี้เป็นข้อพิสูจน์ถึงพระปรีชาสามารถด้านสถาปัตยกรรม. นอกจากนี้ ว่ากันว่าพระองค์ยังทรงเป็นผู้คิดค้นเครื่องบดข้าวโพดที่เห็นในภาพนี้ด้วย. อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าทึ่งเป็นพิเศษก็คือผลงานของพระองค์ในการพัฒนาระบบการเขียนแบบใหม่สำหรับภาษาบามัม.
ทำให้มีทางเป็นไปได้ที่จะจดบันทึก
ในตอนปลายศตวรรษที่ 19 การเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของชาวบามัมส่วนใหญ่อาศัยวิธีเล่าสืบปากจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง. สุลต่านโจยาทรงตระหนักว่ารายละเอียดทางประวัติศาสตร์อยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกละเลยหรือเพิ่มเติม. พระองค์ทรงคุ้นเคยกับภาษาอาหรับหลังจากทรงได้หนังสือภาษาอาหรับมาจากคนทำอาชีพค้าขายและพวกพ่อค้าที่เดินทางผ่านเข้ามาในอาณาจักรของพระองค์. เป็นไปได้ด้วยว่าพระองค์ทรงรู้จักอักษรวายโบราณ
ซึ่งในเวลานั้นใช้กันในไลบีเรีย. ดังนั้น พระองค์จึงเริ่มพัฒนาระบบการเขียนเพื่อใช้ในภาษาของพระองค์เอง.ตอนแรกสุลต่านโจยาทรงคิดสัญลักษณ์ขึ้นมาหลายร้อยแบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตัวหนังสือความคิดและตัวหนังสือภาพ. ระบบดังกล่าวทำให้ประชาชนของพระองค์ต้องจำให้ได้ว่าสัญลักษณ์แต่ละตัวหมายถึงอะไร. พระองค์ทรงใช้เวลาหลายปีปรับปรุงระบบนี้ให้ง่ายขึ้นโดยมีผู้ช่วยที่ไว้ใจได้คอยช่วยเหลือ. พวกเขาได้ลดจำนวนสัญลักษณ์ที่จำเป็นลงโดยนำระบบพยางค์เข้ามาใช้. โดยการรวมสัญลักษณ์หรือตัวอักษรที่พระองค์คิดขึ้นใหม่นี้จำนวนหนึ่งเข้าด้วยกันก็จะได้คำเฉพาะขึ้นมา. จำนวนตัวอักษรและเสียงตัวอักษรที่ผู้อ่านต้องจดจำก็ลดลงมาก. เมื่อสุลต่านโจยาเสร็จสิ้นงานของพระองค์ ระบบการเขียนที่เรียกว่า อา-คา-อู-คู ประกอบไปด้วยตัวอักษร 70 ตัว.
สุลต่านโจยาทรงสนับสนุนการใช้อักษรบามัมโดยโปรดให้มีการสอนในโรงเรียนและใช้ในวงราชการ. พระองค์ทรงมีราชโองการให้บันทึกประวัติของราชวงศ์และของประเทศด้วยตัวอักษรใหม่นี้. โดยวิธีนี้ชาวบามัมจึงสามารถอ่านเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีและกฎหมายของตนเองได้เป็นครั้งแรก. สุลต่านโจยาทรงถึงกับให้เขียนตำรายาด้วยอักษรบามัมที่คิดขึ้นใหม่นี้ด้วย. ปัจจุบันเอกสารต้นฉบับเหล่านี้มากกว่า 8,000 ฉบับยังคงเก็บรักษาไว้ในห้องเก็บเอกสารของพระราชวัง.
ข้อดีของระบบการเขียนใหม่นี้เป็นที่ประจักษ์ชัดไม่นานหลังจากการมาถึงของนักล่าอาณานิคมชาวเยอรมันในปี 1902. ถึงแม้สุลต่านโจยาจะทรงได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่พระองค์ก็ไม่ได้เห็นพ้องกับเจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันไปเสียทุกเรื่อง. ดังนั้น พระองค์จึงใช้ตัวอักษรใหม่ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นซึ่งชาวเยอรมันยังอ่านไม่ออก. อักษรบามัมนี้ใช้กันอยู่นานเท่าไร?
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918) เยอรมนีสูญเสียอำนาจในการครอบครองดินแดนบริเวณที่เป็นอาณาเขตของสุลต่านโจยาไป. ในที่สุด สันนิบาตชาติซึ่งเพิ่งก่อตั้งใหม่ก็มีคำสั่งยกบามัมไปอยู่ใต้อาณัติของฝรั่งเศส. ถึงแม้สุลต่านโจยาจะทรงเปิดรับความคิดใหม่ ๆ แต่พระองค์ก็ทรงภูมิใจในมรดกของพระองค์และทรงประสงค์อย่างยิ่งที่จะอนุรักษ์และพัฒนาขนบธรรมเนียมของประชาชนของพระองค์. ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงทรงต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสเหนืออาณาจักรของพระองค์. ในปี 1931 ฝรั่งเศสจึงถอดพระองค์ออกจากตำแหน่งกษัตริย์ เช่นเดียวกับที่เจ้าอาณานิคมทำกับผู้ปกครองดินแดนซึ่งไม่ยอมสวามิภักดิ์. สองปีต่อมา สุลต่านโจยาก็สิ้นพระชนม์ในระหว่างที่ถูกเนรเทศ.
เนื่องจากฝรั่งเศสห้ามไม่ให้ใช้อักษรบามัมในโรงเรียน อีกทั้งไม่มีสุลต่านโจยาคอยส่งเสริมการใช้อักษรนี้ ชาวบามัมส่วนใหญ่จึงเลิกใช้และลืมอักษรนี้ภายในเวลาไม่นาน. เมื่อมิชชันนารีจากคริสต์ศาสนจักรเข้ามาในดินแดนนี้ พวกเขาได้เรียนภาษาพูดของชาวบามัมและทำหนังสือหลักไวยากรณ์ของภาษานี้เพื่อใช้ในโรงเรียนของพวกเขา. ต่างจากสุลต่านโจยา พวกเขาได้ยืมองค์ประกอบพื้นฐานส่วนใหญ่ที่มีอยู่แล้วในตัวอักษรและการออกเสียงแบบโรมันมาใช้.
ไม่นานมานี้ มีความพยายามอย่างมากที่จะฟื้นความสนใจในอักษรบามัมขึ้นมาใหม่. อิบราฮิม บอมโบ โจยา สุลต่านองค์ปัจจุบัน ทรงเปิดโรงเรียนขึ้นในบริเวณพระราชวังที่พระอัยกาของพระองค์ได้สร้างไว้. ที่โรงเรียนแห่งนี้ นักเรียนในท้องถิ่นจะได้เรียนระบบการเขียนแบบบามัมอีกครั้งหนึ่ง เพื่ออนุรักษ์ไว้ไม่ให้สาบสูญไป.
[ภาพหน้า 27]
แผ่นจารึกแสดงราชวงศ์บามัมตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 14 มาจนถึงปัจจุบัน ด้านซ้ายจารึกโดยใช้ตัวอักษรโรมัน ส่วนด้านขวาเป็นอักษรบามัม
[ที่มาของภาพหน้า 26]
All photos: Courtesy and permission of Sultan Ibrahim Mbombo Njoya, Foumban, Cameroon