จากผู้อ่านของเรา
จากผู้อ่านของเรา
ชีวิตสมรสจะต้านทานมรสุมได้ไหม? (กรกฎาคม 2006) ผมเป็นคนหนึ่งที่อ่านวารสารตื่นเถิด! เป็นประจำ. ผมเป็นคาทอลิก แต่ผมพบว่าวารสารของคุณน่าสนใจมากและให้ความรู้หลายอย่าง. อย่างไรก็ดี ผมไม่เห็นด้วยที่คุณบอกว่า “ในปี 1983 คริสตจักรผ่อนผันเรื่องกฎต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธะการสมรสและเป็นผลให้ชาวคาทอลิกยุติการสมรสง่ายขึ้น.”
จี. วี. เอ็ม., แซมเบีย
“ตื่นเถิด!” ตอบ: เรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายศาสนจักรที่ประกาศใช้ในปี 1983. การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก่อผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ. ตามคำกล่าวของมาร์ก เอ. พิวารูนัส บิชอปชาวโรมันคาทอลิก ในปี 1968 มีการประกาศให้การสมรสเป็นโมฆะเพียง 338 ครั้งในสหรัฐ. แต่ในปี 1990 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 62,824 ครั้ง. ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
เอดเวิร์ด ปีเตอร์ส ทนายความประมวลกฎหมายศาสนจักร กล่าวว่า “มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากบางอย่างในกระบวนการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เป็นเรื่องง่ายขึ้นที่จะยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการสมรสและมีโอกาสมากขึ้นที่คำขอเช่นนั้นจะได้รับการอนุมัติ.” หลังจากยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในประมวลกฎหมาย ปีเตอร์สกล่าวเพิ่มเติมว่า “การเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างจากวาติกันในด้านกระบวนการดำเนินงานตามประมวลกฎหมายได้ทำให้มีการประกาศให้การสมรสเป็นโมฆะเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่อาจโต้แย้งได้.” ไม่ว่าเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายนี้คืออย่างไร แต่ผลโดยตรงของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เป็นอย่างที่ “ตื่นเถิด!” กล่าว นั่นคือ “[คริสตจักร] ทำให้ชาวคาทอลิกยุติการสมรสได้ง่ายขึ้น.”
พระผู้สร้างมีอยู่จริงไหม? (กันยายน 2006) ตื่นเถิด! ฉบับนี้เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม. ข้อโต้แย้งต่าง ๆ ที่มีการนำเสนอเป็นแบบที่เข้าใจง่าย, มีพลัง, ถูกต้องตามหลักเหตุผล, และฟังขึ้น. ผมชอบรูปแบบของวารสารที่ตลอดทั้งเล่มพิจารณาเรื่องเดียวกันโดยกล่าวถึงในหลายแง่มุมต่าง ๆ กันไป.
เอ. บี., สเปน
ขอขอบคุณสำหรับวารสารที่ยอดเยี่ยมและน่าตื่นตาตื่นใจเล่มนี้. ข้อโต้แย้งต่าง ๆ หลายประเด็นและตัวอย่างประกอบที่ยกขึ้นมาเป็นการถวายเกียรติแด่พระยะโฮวา. พระองค์สมควรได้รับการยกย่องเช่นนั้นจริง ๆ.
อาร์. บี., สวิตเซอร์แลนด์
ข้อพิสูจน์ที่เรียบง่ายทำให้ดิฉันเชื่อว่ามีผู้สร้าง. วิวัฒนาการถูกเปิดโปงว่าเป็นเรื่องหลอกลวงมิใช่ด้วยความเกลียดชัง แต่โดยอาศัยหลักเหตุผลอย่างเคร่งครัดตามลักษณะของวิทยาศาสตร์.
แอล. จี., ฝรั่งเศส
ชนเผ่าโรมา—พันปีที่มีทั้งสุขและทุกข์ (ตุลาคม 2006) ดิฉันชื่นชอบชาวโรมาเสมอมา. แต่น่าเศร้าที่หลายคนยังมีอคติต่อพวกเขาอยู่. ดิฉันแน่ใจว่าบทความของคุณจะกระตุ้นความคิดของหลายคน. การที่รู้ว่าพระยะโฮวาไม่ทรงลำเอียงและรู้ว่ามีชาวโรมาในท่ามกลางผู้นมัสการพระองค์นั้นทำให้สบายใจจริง ๆ!
บี. บี., ฝรั่งเศส
พวกเราเป็นชาวโรมา. คุณพ่อของดิฉันยังไม่เป็นพยานพระยะโฮวา และท่านไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไรนัก. อย่างไรก็ดี คุณพ่ออยากจะอ่านวารสารเล่มนี้ และตอนนี้มันก็วางอยู่บนโต๊ะของท่านแล้ว!
เอ. จี., ฟินแลนด์