หนังสือที่คุณเชื่อถือได้ ตอน 5
กรีซในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล
นี่เป็นบทความตอนที่ห้าในชุดบทความเจ็ดตอนซึ่งลงติดต่อกันใน “ตื่นเถิด!” ชุดบทความนี้จะพิจารณามหาอำนาจโลกทั้งเจ็ดในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล. จุดมุ่งหมายก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าคัมภีร์ไบเบิลเป็นหนังสือที่เชื่อถือได้และมีขึ้นโดยการดลใจจากพระเจ้า และข่าวสารในพระคัมภีร์ให้ความหวังที่ว่าความทุกข์ซึ่งเกิดจากการที่มนุษย์ใช้อำนาจอย่างโหดร้ายเหนือเพื่อนมนุษย์จะสิ้นสุดลง.
ในศตวรรษที่สี่ก่อนสากลศักราช ชายหนุ่มชาวมาซิโดเนียชื่ออะเล็กซานเดอร์ได้ผลักดันกรีซ * ขึ้นสู่เวทีโลก. ที่จริง เขาทำให้กรีซกลายเป็นมหาอำนาจที่ห้าในประวัติศาสตร์คัมภีร์ไบเบิล และในที่สุดก็ได้ชื่อว่าอะเล็กซานเดอร์มหาราช. จักรวรรดิก่อนหน้านั้นได้แก่อียิปต์, อัสซีเรีย, บาบิโลน, และมิโด-เปอร์เซีย.
หลังจากอะเล็กซานเดอร์สิ้นชีวิต จักรวรรดิของเขาก็แตกเป็นเสี่ยง ๆ และเริ่มหมดอำนาจ. อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของกรีซในด้านวัฒนธรรม, ภาษา, ศาสนา, และปรัชญายังคงมีอยู่อีกนานหลังจากจักรวรรดิเสื่อมอำนาจไปแล้ว.
ประวัติศาสตร์ที่เชื่อถือได้
บันทึกของคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้กล่าวว่ามีผู้พยากรณ์คนใดของพระเจ้าปฏิบัติงานอยู่ในช่วงที่กรีซขึ้นมามีอำนาจ อีกทั้งไม่มีการดลใจให้เขียนหนังสือเล่มใดในคัมภีร์ไบเบิลในช่วงเวลานั้น. กระนั้นก็ดี คำพยากรณ์ในคัมภีร์ไบเบิลได้กล่าวถึงกรีซ. นอกจากนั้น พระคัมภีร์คริสเตียนภาษากรีกซึ่งเรียกกันว่าพันธสัญญาใหม่ มักกล่าวถึงอิทธิพลกรีกบ่อย ๆ. ที่จริง ในเขตแดนอิสราเอลมีเมืองของกรีกอยู่สิบเมืองที่เรียกว่าเดคาโปลิส ซึ่งเป็นคำภาษากรีกหมายถึง “สิบเมือง.” (มัดธาย 4:25; มาระโก 5:20; 7:31) คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงพื้นที่บริเวณนี้หลายครั้ง และประวัติศาสตร์ทางโลกรวมทั้งซากปรักหักพังที่น่าทึ่งของโรงละคร, โรงมหรสพ, วิหาร, และโรงอาบน้ำยืนยันว่ามีเมืองเหล่านี้อยู่จริง.
นอกจากนั้น คัมภีร์ไบเบิลยังกล่าวหลายครั้งถึงวัฒนธรรมกรีกและศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือกิจการ ซึ่งนายแพทย์ลูกาเขียนไว้. ขอพิจารณาสักสองสามตัวอย่าง:
เมื่อพรรณนาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่เปาโลไปเยือนกรุงเอเธนส์เมื่อปี ส.ศ. 50 คัมภีร์ไบเบิลระบุว่ามี “รูปเคารพเต็มไปทั้งเมือง.” (กิจการ 17:16) หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่ากรุงเอเธนส์และชานเมืองเต็มไปด้วยรูปเคารพและสถานนมัสการ.
กิจการ 17:21 กล่าวดังนี้ “ชาวเอเธนส์ทั้งหลายรวมทั้งชาวต่างประเทศที่อยู่ที่นั่นไม่ได้ทำอะไรในยามว่างนอกจากบอกเล่าหรือไม่ก็ฟังเรื่องใหม่ ๆ.” ข้อเขียนของทูซีดิดิสและเดโมสเทเนซยืนยันว่าชาวเอเธนส์สนใจแต่การสนทนาและการโต้วาที.
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวเจาะจงว่า “นักปรัชญาบางคนที่เป็นพวกเอพิคิวรัสกับพวกสโตอิกได้มาพูดโต้แย้งกับเปาโล” ถึงกับพาท่านไปยังเขาอาเรโอพากุสเพื่อฟังท่านพูดมากขึ้น. (กิจการ 17:18, 19) กรุงเอเธนส์เป็นที่รู้จักในเรื่องนักปรัชญาหลายคน รวมทั้งพวกเอพิคิวรัสและพวกสโตอิก.
เปาโลกล่าวถึงแท่นบูชาของชาวเอเธนส์ที่จารึกว่า “แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จัก.” (กิจการ 17:23) แท่นที่อุทิศให้แด่พระเจ้าที่ไม่รู้จักอาจเป็นแท่นที่เอพิเมนิดีสแห่งครีตตั้งขึ้นก็ได้.
จากการบรรยายของท่านต่อชาวเอเธนส์ เปาโลได้ยกถ้อยคำตอนหนึ่งขึ้นมากล่าวที่ว่า “เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดเราทั้งหลายด้วย” โดยบอกว่า “กวีบางคน ในพวกท่าน” เป็นผู้พูด ไม่ใช่กวีคนเดียว. (กิจการ 17:28) ดูเหมือนกวีชาวกรีกเหล่านี้คืออะราทุสและเคลียนเทส.
ด้วยเหตุผลที่ดี ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งให้ความเห็นดังนี้: “ผมมีความเห็นว่าบันทึกการเยือนกรุงเอเธนส์ของเปาโลนั้นเป็นบันทึกของประจักษ์พยาน.” อาจกล่าวได้เช่นกันถึงคำพรรณนาในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับประสบการณ์ของเปาโลในเมืองเอเฟโซส์แห่งเอเชียไมเนอร์. ในศตวรรษแรก ส.ศ. เมืองนี้ยังคงเกี่ยวพันกับศาสนานอกรีตของกรีก ที่เด่นที่สุดคือการนมัสการเทพธิดาอาร์เตมิส.
วิหารแห่งอาร์เตมิสซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์เจ็ดอย่างของโลกยุคโบราณมีกล่าวหลายครั้งในหนังสือกิจการ. ยกตัวอย่าง เราได้อ่านว่างานรับใช้ของเปาโลในเอเฟโซส์สร้างกิจการ 19:23-28) ครั้นแล้ว เดเมตริอุสได้ปลุกปั่นฝูงชนที่บ้าคลั่งซึ่งเริ่มร้องตะโกนว่า “เทพธิดาอาร์เตมิสของชาวเอเฟโซส์ทรงเป็นใหญ่!”
ความโกรธแค้นแก่ช่างเงินชื่อเดเมตริอุส ผู้ซึ่งมีธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองจากการเอาเงินมาทำเป็นศาลจำลองของเทพธิดาอาร์เตมิส. เดเมตริอุสพูดอย่างโกรธแค้นว่า “เปาโลคนนี้ได้ชักจูงผู้คนมากมายให้มีความคิดเปลี่ยนไปโดยบอกว่า พระที่มนุษย์ทำขึ้นนั้นไม่ใช่พระเจ้า.” (ทุกวันนี้คุณสามารถไปเยี่ยมชมซากปรักหักพังของเมืองเอเฟโซส์และที่ตั้งของวิหารอาร์เตมิสได้. นอกจากนั้น คำจารึกโบราณในเมืองเอเฟโซส์ยืนยันว่ามีการทำรูปเคารพเพื่อยกย่องเทพธิดาองค์นี้และมีสมาคมช่างเงินอยู่ในเมืองนี้ด้วย.
คำพยากรณ์ที่เชื่อถือได้
ประมาณ 200 ปีก่อนสมัยอะเล็กซานเดอร์มหาราช ดานิเอลผู้พยากรณ์ของพระยะโฮวาพระเจ้าเขียนเกี่ยวกับอำนาจปกครองโลกดังนี้: “นี่แน่ะ, มีแพะผู้ตัวหนึ่งมาแต่ทิศอัสดงคตเหาะมาบนพื้นแผ่นดินทั่วพิภพ, และตีนมันหาต้องดินไม่; และแพะตัวนี้มีเขาใช้การได้ดีทีเดียวขึ้นอยู่หว่างตาสองข้าง. มันได้เข้ามาหาแกะผู้ตัวนั้น, ซึ่งมีเขาสองอัน . . . แล้ววิ่งเข้าชนแกะตัวนั้นเต็มกำลังโดยความโกรธ. . . . ชนแกะผู้ตัวนั้นโดนเขาทั้งสองหักไป; และแกะนั้นหมดกำลังที่จะสู้มัน; แล้วแพะตัวนั้นก็ขวิดมันล้มลงกับดินแล้วเหยียบย่ำมันเสียด้วยเท้า. . . . แพะผู้ตัวนั้นก็ได้เป็นใหญ่เป็นโตยิ่งนัก; และพอมันมีกำลังแล้ว, เขาอันยาวนั้นก็หักเสีย; แล้วมีอีกสี่เขาใช้การได้ทีเดียวงอกขึ้นมาแทนที่, หันไปทางจัตุวาตของท้องฟ้า.”—ดานิเอล 8:5-8
ข้อความตอนนี้สำเร็จกับผู้ใด? ดานิเอลตอบว่า “แกะตัวผู้ซึ่งท่านเห็นมีสองเขานั้น, คือราชาของมาดายและฟารัศ [มีเดียและเปอร์เซีย]. แพะตัวผู้นั้น, คือราชาของเฮเลน [กรีซ]; และเขาสัตว์อันใหญ่ระหว่างลูกตาสองข้างนั้น, คือราชาองค์แรก.”—ดานิเอล 8:20-22
คิดดูสิ! ตั้งแต่ตอนที่บาบิโลนยังเป็นมหาอำนาจโลก คัมภีร์ไบเบิลก็บอกล่วงหน้าแล้วว่ามหาอำนาจที่จะมาภายหลังคือมิโด-เปอร์เซียและกรีซ. ยิ่งกว่านั้น ดังที่กล่าวก่อนหน้านี้ คัมภีร์ไบเบิลระบุว่า “พอมันมีกำลังแล้ว, เขาอันยาวนั้น” ซึ่งก็คืออะเล็กซานเดอร์ “ก็หักเสีย” และจะมีสี่บุคคลขึ้นมาแทนที่ และเสริมว่าคนเหล่านั้นไม่ได้เป็นเชื้อสายของอะเล็กซานเดอร์.—ดานิเอล 11:4
คำพยากรณ์ตอนนี้สำเร็จเป็นจริงในทุกรายละเอียด. อะเล็กซานเดอร์ได้ปกครองเป็นกษัตริย์ในปี 336 ก่อน ส.ศ. และในช่วงเวลาเจ็ดปี อะเล็กซานเดอร์พิชิตดาระยาศที่ 3 กษัตริย์เปอร์เซียผู้ยิ่งใหญ่. ต่อจากนั้น อะเล็กซานเดอร์ก็ได้ขยายจักรวรรดิของตนอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งสิ้นชีวิตก่อนเวลาอันควร ในปี 323 ก่อน ส.ศ.เมื่ออายุ 32 ปี. ไม่มีผู้ใดสืบทอดอำนาจจากอะเล็กซานเดอร์ฐานะเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาด แม้แต่ลูกหลานของท่านก็ทำไม่ได้. ทว่า ตามที่หนังสือเล่มหนึ่งกล่าวไว้ (The Hellenistic Age) แม่ทัพใหญ่สี่คนของท่าน คือลีซิมาคุส, คัสซันเดอร์, เซเลอคุส, และปโตเลมี “ได้สถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์” และชิงจักรวรรดินี้ไป.
ระหว่างการขยายจักรวรรดิของท่าน อะเล็กซานเดอร์ยังทำให้คำพยากรณ์อื่น ๆ ของคัมภีร์ไบเบิลสำเร็จเป็นจริงด้วย. ตัวอย่างเช่น ผู้พยากรณ์ยะเอศเคลและซะคาระยา ซึ่งอาศัยอยู่ในช่วงระหว่างศตวรรษที่หกและที่เจ็ดก่อน ส.ศ. ได้บอกล่วงหน้าถึงการทำลายเมืองไทระ. (ยะเอศเคล 26:3-5, 12; 27:32-36; ซะคาระยา 9:3, 4) ยะเอศเคลถึงกับเขียนว่าหินและผงคลีดินของเมืองนั้นจะถูกทิ้ง “ในท่ามกลางน้ำทั้งหลาย.” เรื่องนี้สำเร็จเป็นจริงไหม?
ขอพิจารณาว่ากองทัพของอะเล็กซานเดอร์ได้ทำอะไรในระหว่างการล้อมเมืองไทระเมื่อปี 332 ก่อน ส.ศ. พวกเขารวบรวมซากปรักหักพังของเมืองไทระเก่าที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ แล้วทิ้งลงทะเลเพื่อสร้างเป็นทางข้ามไปยังเมืองไทระที่อยู่บนเกาะ. แผนยุทธศาสตร์นี้ใช้ได้ผล และเมืองไทระแตก. นักสำรวจคนหนึ่งสมัยศตวรรษที่ 19 กล่าวว่า “คำพยากรณ์ว่าด้วยความล่มจมของไทระก็สำเร็จในรายละเอียดปลีกย่อยทุกอย่าง.” *
ความหวังที่คุณเชื่อถือได้
การพิชิตของอะเล็กซานเดอร์ไม่ได้ทำให้โลกสงบหรือมั่นคงปลอดภัย. หลังจากพิจารณายุคแห่งการปกครองของกรีกในสมัยโบราณ ผู้คงแก่เรียนคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “สภาพการณ์พื้นฐานของคนทั่วไป . . . แทบไม่เปลี่ยนไปเลย.” สภาพการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นซ้ำกันตลอดประวัติศาสตร์และยืนยันคำกล่าวในคัมภีร์ไบเบิลอีกครั้งหนึ่งว่า “มนุษย์ใช้อำนาจเหนือมนุษย์อย่างที่ก่อผลเสียหายแก่เขา.”—ท่านผู้ประกาศ 8:9, ล.ม.
แต่สภาพการปกครองที่ไม่สมบูรณ์จะไม่ดำรงอยู่ตลอดกาล เพราะพระเจ้าได้ตั้งรัฐบาลซึ่งเหนือกว่าการปกครองของมนุษย์มาก. รัฐบาลนี้ถูกเรียกว่าราชอาณาจักรของพระเจ้าซึ่งจะมาแทนที่การปกครองโดยมนุษย์ทุกรูปแบบ และประชาราษฎร์แห่งราชอาณาจักรจะอยู่อย่างสงบสุข และปลอดภัยอย่างแท้จริงตลอดไป.—ยะซายา 25:6; 65:21, 22; ดานิเอล 2:35, 44; วิวรณ์ 11:15
กษัตริย์ที่จะปกครองราชอาณาจักรของพระเจ้าจะเป็นใครอื่นไม่ได้นอกจากพระเยซูคริสต์. ต่างจากผู้ปกครองที่เป็นมนุษย์ซึ่งกระหายอำนาจและเย่อหยิ่ง พระเยซูถูกกระตุ้นด้วยความรักต่อพระเจ้าและมนุษยชาติ. ผู้ประพันธ์เพลงสรรเสริญบอกล่วงหน้าว่า “พระองค์จะทรงช่วยคนขัดสนเมื่อเขาร้องทุกข์, และจะทรงช่วยคนอนาถา, ที่ไม่มีผู้อุปถัมภ์. พระองค์จะสงสารคนอนาถาและคนขัดสน, ชีวิตของคนขัดสนพระองค์จะช่วยให้รอด. พระองค์จะไถ่ชีวิตของเขาให้พ้นจากการข่มเหงและการร้ายกาจ.”—บทเพลงสรรเสริญ 72:12-14
พระองค์เป็นผู้ปกครองในแบบที่คุณต้องการไหม? ถ้าเช่นนั้น คุณควรพิจารณามหาอำนาจโลกที่หกในคัมภีร์ไบเบิล—นั่นคือมหาอำนาจโรม. อันที่จริง ผู้ช่วยให้รอดของเราที่พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าได้ถือกำเนิดขึ้นในสมัยโรมัน และพระองค์ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์อย่างที่ไม่อาจลืมเลือนได้. โปรดอ่านบทความที่หกในชุดนี้ ซึ่งคุณจะพบได้ในฉบับต่อไปของวารสารนี้.
^ วรรค 4 คำว่ากรีซในบทความนี้หมายถึงดินแดนกรีซโบราณก่อนสมัยศตวรรษแรกและไม่เกี่ยวข้องกับเขตแดนระหว่างชาติในปัจจุบัน.
^ วรรค 23 ดังที่ยะเอศเคลบอกล่วงหน้า การพิชิตเมืองไทระครั้งแรกเกิดขึ้นโดยฝีมือของกษัตริย์นะบูคัดเนซัรแห่งบาบิโลน. (ยะเอศเคล 26:7) หลังจากนั้น เมืองนี้ก็ถูกสร้างขึ้นใหม่. เมืองใหม่นี้ถูกทำลายโดยอะเล็กซานเดอร์ ซึ่งสำเร็จเป็นจริงในข้อปลีกย่อยทุกอย่างตามคำพยากรณ์.