หนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อของชองเกรสแปง
หนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อของชองเกรสแปง
ในปี 1546 ผู้ชาย 14 คนในเขตโมฝรั่งเศสถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานเป็นคนนอกรีตและถูกลงโทษด้วยการเผาทั้งเป็น. พวกเขาทำอะไรผิด? พวกเขาประชุมร่วมกันในบ้านส่วนตัว, อธิษฐาน, ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า, ระลึกถึงอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า, และประกาศว่าพวกตนจะไม่มีวันยอมรับ “การบูชารูปเคารพตามแบบคาทอลิก.”
ในวันประหารชีวิต ผู้สอนชาวโรมันคาทอลิกชื่อฟรังซัว ปีการ์ ท้าทายชายเหล่านั้นเรื่องความเชื่อของพวกเขาเกี่ยวกับอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า. พวกเขาย้อนถามเขาเกี่ยวกับคำสอนของคาทอลิกเรื่องการแปรสาร ซึ่งอ้างว่าขนมปังและเหล้าองุ่นที่ใช้ในการรำลึกจะเปลี่ยนเป็นเนื้อและโลหิตจริง ๆ ของพระเยซูได้โดยอัศจรรย์. ชายเหล่านั้นที่กำลังจะถูกประหารถามว่า ‘ขนมปังนั้นมีรสเหมือนเนื้อไหม? เหล้าองุ่นมีรสเหมือนเลือดไหม?’
ถึงแม้ไม่ได้รับคำตอบ ชายทั้ง 14 คนก็ถูกมัดติดกับหลักและถูกเผาทั้งเป็น. บางคนซึ่งไม่ถูกตัดลิ้นก็ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า. ส่วนพวกบาทหลวงที่ยืนรอบบริเวณที่ประหารพยายามร้องเพลงให้ดังกว่าเพื่อกลบเสียงพวกเขา. วันถัดมา ณ จุดประหารเดียวกันนี้ ปีการ์ก็ประกาศว่า 14 คนนั้นต้องตกนรกตลอดไป.
ในศตวรรษที่ 16 ยุโรปกลายเป็นที่อันตรายสำหรับผู้ไม่เห็นด้วยทางศาสนา. หลายคนที่ท้าทายหลักคำสอนที่คริสตจักรยอมรับต้องเผชิญกับความโหดร้ายทารุณด้วยน้ำมือของผู้ต่อต้านทางศาสนา. แหล่งข้อมูลหนึ่งเกี่ยวกับการทนทรมานในสมัยนั้นคือหนังสือของชอง เกรสแปงชื่อเลอ ลีฟเรอ เด มาร์เตียร์ (หนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ) ซึ่งพิมพ์ในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อปี 1554. หนังสือนี้เป็นที่รู้จักกันด้วยในชื่ออีสตัวร์ เด มาเตียร์. *
ทนายความคนหนึ่งเข้าสมทบกับขบวนการปฏิรูปศาสนา
เกรสแปงเกิดประมาณปี 1520 ในเมืองอาร์รัส ปัจจุบันอยู่ตอนเหนือของฝรั่งเศส เขาเรียนกฎหมายที่เมืองลูแวง ประเทศเบลเยียม. ดูเหมือนว่าตอนอยู่ที่นั่นเขาได้แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปเป็นครั้งแรก. ในปี 1541 เกรสแปงไปที่ปารีสเพื่อทำงานเป็นเลขานุการของนักกฎหมายที่
มีชื่อเสียง. ในเวลาไล่เลี่ยกัน เขาได้เห็นการเผาโคลด เลอ เปงเกรอในปลาสโมแบร์ กรุงปารีส ซึ่งได้ถูกลงโทษฐานเป็นคนนอกรีต. เกรสแปงประทับใจกับความเชื่อของหนุ่มช่างทองคนนี้มาก โดยบอกว่าเขาถูกประหารเพราะ “ประกาศความจริงให้แก่บิดามารดาและมิตรสหายของเขา.”ในช่วงนั้น เกรสแปงเริ่มทำงานเป็นทนายความในอาร์รัส. อย่างไรก็ตาม ไม่นานนักความเชื่อที่เขาเพิ่งเรียนรู้ได้ทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนอกรีต. เพื่อจะหนีการถูกดำเนินคดี เขาจึงหนีไปสตราสบูร์ก ฝรั่งเศส และไปตั้งหลักปักฐานในเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์. ที่นั่น เขาได้คบหากับพวกที่สนับสนุนการปฏิรูปทางศาสนา. เขาเลิกอาชีพทนายความและเริ่มเป็นช่างพิมพ์.
เกรสแปงได้พิมพ์ผลงานของนักปฏิรูปหลายคน เช่น จอห์น แคลวิน, มาร์ติน ลูเทอร์, จอห์น นอกซ์, ทีโอดอร์ เบซา. เขายังได้พิมพ์คัมภีร์ภาคภาษากรีกที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าพันธสัญญาใหม่ และคัมภีร์ไบเบิลบางส่วนหรือทั้งหมดในภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, ละตินและภาษาสเปน. อย่างไรก็ตาม เกรสแปงกลายเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะหนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ. ในหนังสือเล่มนี้เขาได้ลงรายชื่อหลายคนซึ่งถูกประหารเนื่องจากเป็นคนนอกรีตในช่วงระหว่างปี 1415 ถึง ปี 1554.
จุดประสงค์ของการบันทึกเรื่องผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ
หนังสือส่วนใหญ่ที่ผลิตขึ้นโดยฝ่ายปฏิรูปศาสนาได้ประณามความโหดร้ายของผู้มีอำนาจในคริสตจักรคาทอลิก. หนังสือเหล่านั้นให้กำลังใจประชาชนโดยกล่าวถึงผู้สละชีพฝ่ายโปรเตสแตนต์ว่าเป็น “วีรชน” และถือว่าเป็นเรื่องของการทนทุกข์ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ผู้รับใช้ของพระยะโฮวาสมัยก่อน รวมทั้งคริสเตียนในศตวรรษแรก. เกรสแปงได้จัดพิมพ์รายชื่อคนเหล่านั้นที่ต้องเสียชีวิตเพราะความเชื่อ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ชาวโปรเตสแตนต์จะเลียนแบบได้. *
หนังสือของเกรสแปงรวบรวมบันทึกการพิจารณาคดี, การไต่สวน, และคำให้การของประจักษ์พยาน รวมทั้งคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาที่เขียนขณะเขาถูกจำคุก. ในหนังสือนั้นยังมีจดหมายชูใจที่พวกเขาเขียนขณะอยู่ในเรือนจำ ซึ่งบางฉบับเต็มไปด้วยข้อความที่ยกมาจากคัมภีร์ไบเบิล. เกรสแปงเชื่อว่า ความเชื่อของผู้เขียน “มีค่าควรแก่การจดจำไว้ตลอดไป.”
เนื้อหาด้านหลักคำสอนส่วนใหญ่ในหนังสือของเกรสแปงมุ่งอยู่ที่ความขัดแย้งซึ่งรู้จักกันดีระหว่างชาวคาทอลิกและโปรเตสแตนต์. ผู้ข่มเหงและผู้ถูกข่มเหงโต้เถียงกันหลายเรื่อง เช่น การใช้รูปบูชาในการนมัสการ, ไฟชำระ, และการอธิษฐานเพื่อคนตาย รวมทั้งข้อที่ว่ามีการถวายเครื่องบูชาของพระเยซูซ้ำหรือไม่ระหว่างพิธีมิสซาของคาทอลิก และที่ว่าสันตะปาปาเป็นตัวแทนของพระเจ้าหรือไม่.
หนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ เป็นหลักฐานถึงความขัดแย้งและการไม่ให้สิทธิ์ทางศาสนาซึ่งมีอยู่แพร่หลายในยุคที่รุนแรงนั้น. แม้เกรสแปงจะเน้นเรื่องที่ชาวคาทอลิกข่มเหงชาวโปรเตสแตนต์ แต่ก็ไม่ควรลืมว่าบางครั้งชาวโปรเตสแตนต์ก็ข่มเหงชาวคาทอลิกอย่างรุนแรงด้วย.
ตลอดประวัติศาสตร์ ศาสนาเท็จได้แปดเปื้อนไปด้วย “เลือดของผู้พยากรณ์ ผู้บริสุทธิ์ และเลือดคนทั้งปวงที่ถูกฆ่าบนแผ่นดินโลก.” แน่นอน เลือดของคนที่พระเจ้ายอมรับว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ซึ่งได้สละชีพเพื่อความเชื่อได้ร้องขอให้พระองค์แก้แค้น. (วิวรณ์ 6:9, 10; 18:24) เป็นไปได้ที่บางคนซึ่งทนทุกข์และเสียชีวิตเพราะความเชื่อของตนในสมัยของชอง เกรสแปงได้เสาะหาความจริงทางศาสนาอย่างจริงใจ.
[เชิงอรรถ]
^ วรรค 5 ชื่อหนังสือของเกรสแปง มีการแปลอีกแบบหนึ่งว่าหนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ มีเรื่องราวของหลายคนผู้สละชีพเพื่อความเชื่อซึ่งต้องประสบความตายในพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา จากยาน ฮุสมาจนถึงปีนี้คือปี 1554. ฉบับแก้ไขและฉบับตัวพิมพ์ใหญ่หลายฉบับซึ่งมีชื่อและเนื้อหาไม่เหมือนกันถูกจัดพิมพ์ขึ้นในช่วงชีวิตของเกรสแปงและของคนอื่น ๆ หลังจากเขาเสียชีวิต.
^ วรรค 11 มีการเขียนเรื่องผู้สละชีพเพื่อความเชื่ออีกสองเล่มในปี 1554 ปีเดียวกับที่เกรสแปงจัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ—เล่มหนึ่งในภาษาเยอรมันเขียนโดยลุดวิค ราบุส และอีกเล่มหนึ่งในภาษาละตินโดย จอห์น ฟอกส์.
[ภาพหน้า 12]
หน้าปกของ “หนังสือเกี่ยวกับผู้สละชีพเพื่อความเชื่อ” ของเกรสแปง (ฉบับปี 1564)
[ภาพหน้า 13]
การประหารชาวโปรเตสแตนต์ต่อหน้ากษัตริย์เฮนรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสและราชสำนักของพระองค์
[ที่มาของภาพหน้า 13]
Images both pages: © Société de l’Histoire du Protestantisme Français Paris