วิธีควบคุมการใช้จ่าย
นอกจากแรงกดดันจากนักการตลาดแล้ว ความรู้สึกและนิสัยส่วนตัวก็อาจทำให้เรากลายเป็นคนที่ใช้จ่ายเกินตัว. คำแนะนำหกข้อต่อไปนี้จะช่วยให้คุณควบคุมการใช้จ่ายได้.
-
อย่าซื้อเพราะอารมณ์. คุณรู้สึกสนุกตื่นเต้นกับการจับจ่ายซื้อของและหาสินค้าลดราคาไหม? ถ้าใช่ คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ชอบซื้อของเพราะอารมณ์. วิธีแก้คืออย่ารีบซื้อและให้คิดตามความเป็นจริงว่าการซื้อของชิ้นนั้นจะมีผลอย่างไรในระยะยาว และคุณจะดูแลรักษาได้อย่างไร. หยุดสักนิดและคิดถึงครั้งก่อนที่คุณต้องมานั่งเสียใจภายหลังเพราะซื้อของด้วยอารมณ์. บอกตัวเองให้ “ใจเย็น ๆ.” คิดให้ดีก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ.
-
อย่าซื้อของแก้เครียด. การจับจ่ายซื้อของอาจช่วยให้คุณอารมณ์ดีขึ้นได้สักพักหนึ่ง. แต่เมื่อความเครียดกลับมาอีก คุณอาจรู้สึกว่าต้องซื้อให้หนักขึ้นเพื่อบรรเทาความเครียด. แทนที่จะแก้เครียดด้วยการซื้อ คุณน่าจะพูดคุยกับเพื่อนที่เข้าใจปัญหาของคุณหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้แรง เช่น เดินออกกำลังกาย.
-
อย่าซื้อของเป็นงานอดิเรก. ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ พยายามตกแต่งอย่างหรูหราเพื่อให้การจับจ่ายกลายเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน. บางครั้งคุณอาจไปเดินห้างหรือเล่นอินเทอร์เน็ตเพียงเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ แต่สิ่งที่คุณมองเห็นส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้คุณอยากซื้อ. ดังนั้น จงไปซื้อของเฉพาะเมื่อคุณมีรายการของที่จะซื้ออยู่ในใจแล้วจริง ๆ และไม่ซื้อนอกรายการโดยเด็ดขาด.
-
เลือกเพื่อนให้ดี. รูปแบบชีวิตของเพื่อนและเรื่องที่เขาพูดคุยมีอิทธิพลมากต่อความคิดของคุณ. ถ้าคุณกำลังใช้จ่ายเกินตัวเพื่อจะมีของทุกอย่างทัดเทียมเพื่อนฝูง ขอให้คุณเลือกคบเพื่อนที่ไม่มีนิสัยฟุ้งเฟ้อนิยมวัตถุหรือพูดคุยแต่เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ.
-
ใช้บัตรเครดิตอย่างฉลาด. บัตรเครดิตทำให้คุณซื้อของได้ง่าย ๆ โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมา. พยายามจ่ายหนี้บัตรเครดิตเต็มจำนวนทุกเดือนเพื่อไม่ให้มียอดค้างชำระ. คุณต้องรู้ว่าบัตรเครดิตของคุณมีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เท่าไร. เปรียบเทียบข้อเสนอของแต่ละธนาคารและเลือกใช้บัตรที่เหมาะกับรายได้ของคุณ. ระวังบัตรพรีเมียมที่มีดอกเบี้ยสูงและให้สิทธิประโยชน์ที่เกินความจำเป็นของคุณ. แทนที่จะจ่ายทุกอย่างด้วยบัตรเครดิต จงเก็บบัตรไว้ใช้เฉพาะเมื่อต้องซื้อของราคาสูงแล้วซื้อของทั่วไปด้วยเงินสด.
-
รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง. เป็นเรื่องง่ายที่จะใช้จ่ายเกินตัวถ้าคุณไม่รู้สถานะทางการเงินของตัวเอง. ทำบันทึกการใช้จ่ายเป็นประจำ เพื่อจะรู้จำนวนเงินทั้งหมดที่คุณมี. วางแผนการใช้จ่ายแต่ละเดือนตามความเป็นจริงโดยคำนึงถึงรายได้และค่าใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา. ตรวจเช็ครายจ่ายและใบเสร็จต่าง ๆ เพื่อดูว่าการใช้จ่ายเป็นไปตามแผนที่วางไว้หรือไม่. ปรึกษาเพื่อนที่คุณไว้ใจเมื่อมีข้อสงสัยหรือปัญหาทางการเงิน.