จากปก
จะสอนลูกอย่างไรดี?
ในช่วงไม่กี่สิบปีมานี้ ชีวิตครอบครัวในประเทศแถบตะวันตกเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อก่อนพ่อแม่คือผู้ที่มีอำนาจในบ้าน ส่วนลูก ๆ ก็ต้องเชื่อฟังและทำตาม แต่ในทุกวันนี้บางครอบครัวดูเหมือนจะตรงกันข้ามเลย เพื่อเป็นตัวอย่างให้เรามาดูสถานการณ์ต่อไปนี้ซึ่งทั้งหมดอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
-
ขณะเดินอยู่ในห้าง ลูกชายวัยสี่ขวบร้องอยากได้ของเล่นแต่แม่ก็เกลี้ยกล่อมลูกโดยบอกว่า “ลูกมีของเล่นเยอะอยู่แล้วไม่ใช่เหรอ?” ที่จริง เธอนึกได้ว่าน่าจะบอกลูกว่าไม่ ให้ชัดไปเลยแทนที่จะถามลูกอย่างนั้น ลูกชายก็เลยร้องงอแงแล้วบอกว่า “แต่ผมจะเอา อันนี้!” ในที่สุด แม่ก็ยอมซื้อของเล่นให้เพราะกลัวลูกชายจะอาละวาดเหมือนทุกที
-
ขณะที่พ่อกำลังคุยอยู่กับผู้ใหญ่คนหนึ่ง ลูกสาววัยห้าขวบก็พูดแทรกขึ้นมาว่า “หนูเบื่อ หนูอยากกลับบ้าน!” พ่อหยุดคุยกลางคันแล้วก้มมาพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยนว่า “อีกแป๊บเดียวนะลูก”
-
เจมส์อายุ 12 ปีถูกตักเตือนอีกเพราะตะคอกใส่ครู พ่อของเจมส์แทนที่จะโมโหลูกชายแต่เขากลับโมโหครู พ่อบอกเจมส์ว่า “ครูคนนี้จ้องจะเล่นงานลูกตลอดเลยนะ เดี๋ยวพ่อจะไปฟ้องทางโรงเรียนให้”
แม้สถานการณ์ด้านบนจะเป็นเรื่องสมมุติแต่ก็มีให้เห็นทั่วไป เพราะนี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในหลายครอบครัว พ่อแม่บางคนตามใจลูก ปล่อยให้ลูกแสดงมารยาทที่ไม่ดี และ “ปกป้อง” ลูกทั้ง ๆ ที่เขาทำผิด หนังสือโรคหลงตัวเองแพร่ระบาด (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า “ตอนนี้เป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นที่พ่อแม่ยอมให้เด็กเล็ก ๆ มีอำนาจเหนือพวกเขา . . . เมื่อก่อน เด็ก ๆ รู้ตัวว่าเขาไม่มีอำนาจเหนือพ่อแม่”
แน่นอนว่าพ่อแม่หลายคนพยายามอย่างหนักเพื่อสอนค่านิยมต่าง ๆ ที่เหมาะสมให้ลูกทั้งโดยการวางตัวอย่างที่ดีและอบรมสั่งสอนลูก ๆ ด้วยความรัก หนังสือโรคหลงตัวเองแพร่ระบาด ได้เปรียบพ่อแม่ที่ทำอย่างนั้นว่า พวกเขา “กำลังสวนกระแสสังคม”
เป็นแบบนี้ไปได้อย่างไร? ทำไมการสอนลูกในทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องยาก?
อำนาจของพ่อแม่ลดลง
บางคนบอกว่าอำนาจของพ่อแม่ลดลงตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อพวกผู้เชี่ยวชาญออกมาแนะนำพ่อแม่ให้เข้มงวดกับลูกน้อยลง พวกเขาบอกว่า ‘ให้เป็นเพื่อน ไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจเหนือเด็ก’ ‘การชมดีกว่าการลงโทษ’ ‘อย่าตำหนิลูก แต่ให้หาทางชมลูก’ แทนที่จะรักษาความสมดุลระหว่างการชมเชยกับการว่ากล่าวแก้ไขลูก ดูเหมือนผู้เชี่ยวชาญกำลังจะบอกว่าการตำหนิลูกจะทำลายความรู้สึกอันเปราะบางของพวกเขาและทำให้พวกเขาผูกใจเจ็บพ่อแม่เมื่อพวกเขาโตขึ้น
เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นถึงความสำคัญของการสร้างความมั่นใจให้กับลูกด้วย ราวกับว่าเคล็ดลับการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นเพิ่งถูกค้นพบ และเคล็ดลับนั้นก็คือ ต้องทำให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง จริงอยู่ที่การปลูกฝังให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ความเชื่อมั่นในตัวเองมากเกินไปจะทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงได้ พวกเขาบอกพ่อแม่ให้ ‘หลีกเลี่ยงคำพูดในแง่ลบเช่นคำว่า ไม่ หรือ แย่’ ‘ให้หมั่นบอกลูกว่าลูกเก่งมากและลูกทำได้ทุกอย่าง’ นั่นก็เท่ากับบอกพ่อแม่ว่าไม่ต้องสนใจว่าจะถูกหรือผิด แค่พูดให้ลูกรู้สึก ดีก็พอแล้ว
ในที่สุดบางคนบอกว่าความมั่นใจในตัวเองนั้นก็แค่ทำให้เด็กคิดว่าตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่นเหมือนกับว่าโลกทั้งโลกเป็นของเขา หนังสือคนพันธุ์ฉัน (ภาษาอังกฤษ) บอกว่า สิ่งนี้ทำให้เด็กหลายคน “ไม่พร้อมที่จะฟังคำวิพากษ์วิจารณ์และไม่ยอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง” อย่างที่พ่อคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า “ในที่ทำงานไม่มีใครจะมาสนใจหรอกว่าคุณมีความเชื่อมั่นในตัวเองแค่ไหน . . . สมมุติว่าคุณทำ
รายงานออกมาแย่มาก ๆ คงไม่มีทางที่เจ้านายจะชมคุณว่า ‘ผมชอบสีกระดาษที่คุณเลือกใช้ในรายงานนี้มาก’ การเลี้ยงลูกแบบนี้มีแต่จะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อลูก”เปลี่ยนความคิด
หลายสิบปีมานี้ วิธีเลี้ยงลูกมักจะเปลี่ยนไปตามความคิดของคนเราที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ นักวิชาการด้านการศึกษาที่ชื่อโรนัลด์ จี มอร์ริชเขียนว่า “วิธีสอนลูกเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ . . . ตามความคิดของสังคมที่เปลี่ยนไป” * ดังนั้น พ่อแม่จึงมักจะเป็นเหมือนกับที่คัมภีร์ไบเบิลบอกไว้ว่า “ถูกซัดไปซัดมาเหมือนโดนคลื่นและถูกพาไปทางนั้นบ้างทางนี้บ้างโดยลมแห่งคำสอนทุกอย่าง”—เอเฟโซส์ 4:14
เห็นได้ชัดว่าแนวคิดในเรื่องการสอนลูกแบบอะลุ่มอล่วยนั้นส่งผลเสียต่อลูก ไม่เพียงทำให้พ่อแม่มีอำนาจน้อยลงเท่านั้นแต่ยังทำให้เด็กไม่ได้รับการชี้นำเพื่อตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและไม่ได้ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองจริง ๆ
มีวิธีสอนแบบอื่นที่ดีกว่านี้ไหม?
^ วรรค 15 จากหนังสือเคล็ดลับสอนลูก กุญแจ 12 ดอกที่จะเลี้ยงลูกให้รู้จักรับผิดชอบ (ภาษาอังกฤษ)