ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

พวก “โพลิช เบรเทร็น” ทำไมพวกเขาถูกข่มเหง?

พวก “โพลิช เบรเทร็น” ทำไมพวกเขาถูกข่มเหง?

พวก “โพลิช เบรเทร็น” ทำไม​พวก​เขา​ถูก​ข่มเหง?

ใน​ปี 1638 รัฐสภา​โปแลนด์​ได้​ดำเนิน​การ​ที่​ยัง​ความ​เสียหาย​อย่าง​รุนแรง​แก่​ศาสนา​กลุ่ม​เล็ก ๆ กลุ่ม​หนึ่ง​ซึ่ง​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า​พวก​โพลิช เบรเทร็น. โบสถ์​และ​แท่น​พิมพ์​ที่​เป็น​ของ​กลุ่ม​นี้​ถูก​ทำลาย. มหาวิทยาลัย​แห่ง​เมือง​รา​คาว​ถูก​ปิด และ​ศาสตราจารย์​ซึ่ง​สอน​ที่​นั่น​ถูก​เนรเทศ.

ยี่​สิบ​ปี​ต่อ​มา รัฐสภา​ได้​ดำเนิน​การ​อีก​ขั้น​หนึ่ง. มี​การ​สั่ง​สมาชิก​ทุก​คน​ของ​กลุ่ม​นี้ ซึ่ง​อาจ​มี​จำนวน 10,000 คน​หรือ​มาก​กว่า​นี้​ให้​ออก​จาก​ประเทศ. สถานการณ์​มา​ถึง​ขั้น​วิกฤติ​ขนาด​นั้น​ได้​อย่าง​ไร​ใน​ประเทศ​ที่​ตอน​นั้น​ถือ​กัน​ว่า​เป็น​หนึ่ง​ใน​บรรดา​ประเทศ​ที่​ยอม​ให้​ทาง​ศาสนา​มาก​ที่​สุด​ตลอด​ทั่ว​ยุโรป? พวก​โพลิช เบรเทร็น​ทำ​อะไร​ที่​สม​ควร​ได้​รับ​การ​ปฏิบัติ​อย่าง​รุนแรง​เช่น​นั้น?

เหตุ​การณ์​ทั้ง​หมด​เริ่ม​ต้น​เมื่อ​ความ​แตก​แยก​อย่าง​รุนแรง​เกิด​ขึ้น​ภาย​ใน​คริสตจักร​แคลวิน​ของ​โปแลนด์. ประเด็น​สำคัญ​ใน​การ​โต้​เถียง​คือ​คำ​สอน​เรื่อง​ตรีเอกานุภาพ. พวก​ผู้​นำ​ของ​ขบวนการ​หัว​ใหม่​ภาย​ใน​คริสตจักร​ปฏิเสธ​คำ​สอน​นั้น​ว่า​ไม่​ถูก​หลัก​พระ​คัมภีร์. เรื่อง​นี้​ทำ​ให้​พวก​ผู้​นำ​ของ​คริสตจักร​โกรธ​แค้น​และ​เป็น​เหตุ​ให้​ขบวนการ​หัว​ใหม่​แยก​ตัว​ออก​ไป.

พวก​ถือ​นิกาย​แคลวิน​เรียก​ผู้​ที่​มี​ความ​เห็น​ต่าง​ออก​ไป​นี้​ว่า​พวก​อาเรียน * แต่​สานุศิษย์​ของ​กลุ่ม​ใหม่​นี้​ชอบ​ที่​จะ​เรียก​ตัว​เอง​ว่า​คริสเตียน​หรือ​พวก​โพลิช เบรเทร็น​มาก​กว่า. พวก​เขา​ยัง​เป็น​ที่​รู้​จัก​ว่า​พวก​โซซิเนียน ตาม​ไลลีอุส โซซินุส​ชาว​อิตาลี​คน​หนึ่ง​ซึ่ง​ได้​รับ​อิทธิพล​จาก​เซอร์เวทุส และ​ฟอสตุส โซซินุส หลาน​ชาย​ของ​เขา​ได้​เดิน​ทาง​ไป​โปแลนด์​แล้ว​เข้า​มา​เป็น​คน​สำคัญ​ใน​ขบวนการ​นี้.

ใน​ตอน​นั้น​ขุนนาง​ชาว​โปแลนด์​ชื่อ​ยาน เชนเยนสคี พยายาม​จะ​ให้​สิ่ง​ซึ่ง​เขา​เรียก​ว่า “สถาน​ที่​สงบ, สันโดษ” แก่​คริสตจักร​ใหม่​เพื่อ​คริสตจักร​จะ​เจริญ​ขึ้น. โดย​ใช้​สิทธิ​พิเศษ​ที่​ได้​รับ​พระ​บรมราชานุญาต​จาก​กษัตริย์​โปแลนด์ เชนเยนสคี​ได้​สร้าง​เมือง​รา​คาว​ซึ่ง​ภาย​หลัง​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​ของ​นิกาย​โซซิเนียน​ใน​โปแลนด์. เชนเยนสคี​ได้​ให้​ชาว​เมือง​รา​คาว​มี​สิทธิ​หลาย​อย่าง รวม​ทั้ง​สิทธิ​ที่​จะ​นมัสการ​ได้​อย่าง​เสรี.

ช่าง​ฝีมือ, แพทย์, เภสัชกร, ชาว​เมือง, และ​พวก​ผู้​ดี​มี​สกุล​จาก​นิกาย​ต่าง ๆ ถูก​ดึงดูด​ใจ​ให้​มา​ที่​เมือง​ใหม่​นี้. นอก​จาก​นั้น พวก​นัก​เทศน์​จาก​โปแลนด์, ลิทัวเนีย, แทรนซิลเวเนีย, ฝรั่งเศส, และ​กระทั่ง​อังกฤษ​ได้​แห่​กัน​มา​ที่​นั่น. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ใช่​ว่า​ผู้​มา​ถึง​ใหม่​เหล่า​นี้​ทุก​คน​มี​ความ​เชื่อ​เหมือน​กับ​พวก​โซซิเนียน ดัง​นั้น ตลอด​สาม​ปี​ต่อ​มา ตั้ง​แต่​ปี 1569 ถึง 1572 รา​คาว​ได้​กลาย​เป็น​สถาน​ที่​ของ​การ​ถก​กัน​ทาง​เทววิทยา​อย่าง​ไม่​รู้​จัก​จบ. พร้อม​ด้วย​ผล​ประการ​ใด?

สำนัก​ที่​แตก​แยก

ขบวนการ​โซซิเนียน​เอง​ได้​แตก​แยก โดย​ที่​คน​เหล่า​นั้น​ซึ่ง​รับ​เอา​ทัศนะ​แบบ​หัวรุนแรง​มาก​กว่า​อยู่​ฝ่าย​หนึ่ง และ​คน​เหล่า​นั้น​ที่​มี​แนว​คิด​กลาง ๆ มาก​กว่า​อยู่​อีก​ฝ่าย​หนึ่ง. แต่​ทั้ง ๆ ที่​มี​ความ​ขัด​แย้ง​กัน ความ​เชื่อ​ที่​พวก​เขา​ถือ​ร่วม​กัน​นับ​ว่า​โดด​เด่น​เป็น​พิเศษ. พวก​เขา​ปฏิเสธ​ตรีเอกานุภาพ; พวก​เขา​ไม่​ยอม​ทำ​การ​บัพติสมา​ให้​ทารก; โดย​ทั่ว​ไป​พวก​เขา​ไม่​ถือ​อาวุธและ​มัก​จะ​ไม่​รับ​ตำแหน่ง​หน้า​ที่​ราชการ. * พวก​เขา​ยัง​ปฏิเสธ​เรื่อง​นรก​ซึ่ง​เป็น​สถาน​ที่​ทรมาน. โดย​ความ​เชื่อ​ทั้ง​หมด​นี้ พวก​เขา​ไม่​ติด​ตาม​ประเพณี​ต่าง ๆ ทาง​ศาสนา​อัน​เป็น​ที่​นิยม.

นัก​บวช​ทั้ง​นิกาย​แคลวิน​และ​คาทอลิก​ดำเนิน​การ​ต่อ​ต้าน​กลุ่ม​นี้​อย่าง​ดุเดือด แต่​พวก​นัก​เทศน์​โซซิเนียน​ฉวย​โอกาส​จาก​สภาพการณ์​ที่​มี​การ​ยอม​ให้​ทาง​ศาสนา​ที่​ได้​รับ​การ​สนับสนุน​จาก​กษัตริย์​โปแลนด์ เช่น ซิกมูนท์​ที่ 2 เอากุสตุส​และ​สตีเฟน บาโธรี เพื่อ​สอน​แนว​คิด​ของ​พวก​เขา.

ผล​งาน​สำคัญ​ของ​บุดนี

คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ของ​ผู้​ถือ​นิกาย​แคลวิน​ซึ่ง​มี​การ​ใช้​อย่าง​กว้างขวาง​ใน​ตอน​นั้น​ไม่​ได้​สนอง​ความ​ต้องการ​ของ​ผู้​อ่าน​หลาย​คน. ฉบับ​แปล​นี้​ได้​รับ​การ​แปล​ไม่​ใช่​จาก​ภาษา​เดิม แต่​จาก​ฉบับ​ลาติน​วัลเกต และ​ฉบับ​แปล​ภาษา​ฝรั่งเศส​ที่​มี​อยู่​ใน​ตอน​นั้น. ผู้​รอบรู้​คน​หนึ่ง​กล่าว​ว่า “ความ​ซื่อ​สัตย์​และ​ความ​ถูก​ต้อง​ของ​ความ​คิด​ได้​สูญ​เสีย​ไป​เพื่อ​แลก​กับ​สำนวน​ที่​ไพเราะ.” มี​การ​นำ​ข้อ​ผิด​พลาด​หลาย​อย่าง​เข้า​มา. เพราะ​ฉะนั้น ผู้​คง​แก่​เรียน​ที่​รู้​จัก​กัน​ดี​ชื่อ ชิ​มอน บุดนี ได้​รับ​การ​เชิญ​ให้​แก้ไข​ฉบับ​แปล​นี้. เขา​ตัดสิน​ใจ​ว่า​การ​ทำ​ฉบับ​แปล​ใหม่​ทั้ง​หมด​เลย​คง​จะ​ง่าย​กว่า​การ​แก้ไข​ฉบับ​เก่า. บุดนี​เริ่ม​ทำ​งาน​ใน​โครงการ​นี้​ประมาณ​ปี 1567.

ขณะ​ที่​แปล บุดนี​วิเคราะห์​ทุก​คำ​และ​คำ​เดียว​กัน​ใน​รูป​แบบ​ที่​ต่าง​ออก​ไป​นั้น​อย่าง​ถี่ถ้วน​ใน​วิธี​ที่​ไม่​มี​ใคร​ใน​โปแลนด์​เคย​ทำ​มา​ก่อน. เมื่อ​ยาก​ที่​จะ​แปล​ความหมาย​ของ​ข้อ​ความ​ภาษา​ฮีบรู​เป็น​ภาษา​โปแลนด์ เขา​ก็​จะ​แสดง​การ​แปล​ตาม​ตัว​อักษร​ไว้​ใน​หมายเหตุ​ริม​หน้า. เมื่อ​จำเป็น เขา​สร้าง​คำ​ใหม่​ขึ้น​และ​พยายาม​ใช้​ภาษา​โปแลนด์​ที่​ง่าย​และ​ที่​ใช้​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน​ใน​สมัย​นั้น. เป้าหมาย​ของ​เขา​คือ​เพื่อ​เสนอ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ที่​ซื่อ​สัตย์​และ​ถูก​ต้อง​แก่​ผู้​อ่าน.

คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​ของ​บุดนี​ทั้ง​เล่ม​ได้​รับ​การ​พิมพ์​ใน​ปี 1572. อย่าง​ไร​ก็​ตาม ผู้​พิมพ์​ผล​งาน​นี้​ได้​เปลี่ยน​แปลง​พระ​คัมภีร์​ฉบับ​แปล​ภาษา​กรีก​ของ​เขา. โดย​ไม่​ให้​อะไร​มา​ขัด​ขวาง บุดนี​เริ่ม​ทำ​ฉบับ​แปล​ที่​แก้ไข​ใหม่ ซึ่ง​แล้ว​เสร็จ​ใน​สอง​ปี​ต่อ​มา. พระ​คัมภีร์​ภาค​ภาษา​กรีก​ฉบับ​แปล​ที่​ยอด​เยี่ยม​ของ​บุดนี​นับ​ว่า​เหนือ​กว่า​ฉบับ​แปล​ภาษา​โปแลนด์​ก่อน​หน้า​นั้น. นอก​จาก​นี้ ใน​หลาย​ตอน​เขา​ใส่​พระ​นาม​ของ​พระเจ้า ยะโฮวา ไว้​ใน​ที่​เดิม.

ระหว่าง​ช่วง​ท้าย​ของ​ศตวรรษ​ที่ 16 และ​สาม​ทศวรรษ​แรก​ของ​ศตวรรษ​ที่ 17 รา​คาว เมือง​ที่​เด่น​ที่​สุด​ของ​ขบวนการ​นี้ ได้​กลาย​เป็น​ศูนย์กลาง​ทาง​ศาสนา​และ​ทาง​ปัญญา. พวก​ผู้​นำ​และ​นัก​เขียน​ของ​พวก​โพลิช เบรเทร็น​ได้​พิมพ์​แผ่น​พับ​และ​ผล​งาน​บท​ประพันธ์​ของ​พวก​เขา​ที่​นั่น.

พวก​เขา​ส่ง​เสริม​การ​ศึกษา

งาน​จัด​พิมพ์​ของ​พวก​โพลิช เบรเทร็น​เริ่ม​ได้​รับ​แรง​ผลัก​ดัน​ราว ๆ ปี 1600 เมื่อ​มี​การ​ตั้ง​แท่น​พิมพ์​ขึ้น​ใน​เมือง​รา​คาว. แท่น​พิมพ์​นั้น​สามารถ​ผลิต​ทั้ง​บทความ​สั้น ๆ และ​หนังสือ​ขนาด​ใหญ่​ใน​หลาย​ภาษา. ใน​ฐานะ​เป็น​ศูนย์กลาง​การ​พิมพ์ ใน​ไม่​ช้า​รา​คาว​ก็​เป็น​คู่​แข่ง​ของ​ศูนย์​การ​พิมพ์​ที่​ดี​ที่​สุด​ใน​ยุโรป. เชื่อ​กัน​ว่า​หนังสือ​จำนวน​มาก​ราว ๆ 200 ฉบับ​พิมพ์​บน​แท่น​พิมพ์​นั้น​ระหว่าง 40 ปี​ถัด​ไป. โรง​งาน​ผลิต​กระดาษ​ที่​อยู่​ใกล้ ๆ ซึ่ง​พวก​โพลิช เบรเทร็น​เป็น​เจ้าของ​นั้น​ได้​จัด​ส่ง​กระดาษ​คุณภาพ​เยี่ยม​ให้​สำหรับ​พิมพ์​หนังสือ​เหล่า​นี้.

ใน​ไม่​ช้า​พวก​โพลิช เบรเทร็น​เห็น​ความ​จำเป็น​ที่​จะ​ให้​การ​ศึกษา​แก่​เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ และ​คน​อื่น ๆ ด้วย. เพื่อ​จุด​มุ่ง​หมาย​นี้ ได้​มี​การ​ตั้ง​มหาวิทยาลัย​แห่ง​เมือง​รา​คาว​ขึ้น​ใน​ปี 1602. บุตร​ชาย​ของ​พวก​โพลิช เบรเทร็น และ​เด็ก​ผู้​ชาย​คาทอลิก​และ​โปรเตสแตนต์​ได้​เข้า​เรียน​ที่​นั่น​ด้วย. ถึง​แม้​มหาวิทยาลัย​นี้​เป็น​สถาน​ศึกษา​ทาง​เทววิทยา​ก็​ตาม ศาสนา​ใช่​ว่า​เป็น​เรื่อง​เดียว​เท่า​นั้น​ที่​สอน​กัน. ภาษา​ต่าง​ประเทศ, จริยศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ประวัติศาสตร์, กฎหมาย, ตรรกศาสตร์, วิทยาศาสตร์​ธรรมชาติ, คณิตศาสตร์, แพทยศาสตร์, และ​ยิมนาสติก​เป็น​ส่วน​หนึ่ง​ของ​หลัก​สูตร​ด้วย. มหาวิทยาลัย​มี​ห้อง​สมุด​ใหญ่​ซึ่ง​ขยาย​ตัว​ขึ้น​เรื่อย ๆ เนื่อง​จาก​แท่น​พิมพ์​ของ​เมือง​นี้.

ขณะ​ที่​ศตวรรษ​ที่ 17 คืบ​หน้า​ไป ดู​เหมือน​ว่า​พวก​โพลิช เบรเทร็น​จะ​รุ่งเรือง​ต่อ​ไป. แต่​หา​เป็น​เช่น​นั้น​ไม่.

คริสตจักร​และ​รัฐ​ตอบ​โต้

ซบิกเนียฟ ออโกนอฟสคี​แห่ง​สถาบัน​วิทยาศาสตร์​ของ​โปแลนด์​อธิบาย​ว่า “ใน​ตอน​จบ​ทศวรรษ​ที่​สาม​ของ​ศตวรรษ​ที่ 17 สภาพการณ์​ของ​พวก​อาเรียน​ใน​โปแลนด์​เริ่ม​เสื่อม​ลง​อย่าง​รวด​เร็ว.” เป็น​เช่น​นี้​เนื่อง​จาก​การ​เคลื่อน​ไหว​แบบ​ห้าว​หาญ​มาก​ขึ้น​เรื่อย ๆ ของ​นัก​เทศน์​นัก​บวช​คาทอลิก. พวก​เขา​ใช้​ทุก​วิถี​ทาง​ที่​เป็น​ไป​ได้ รวม​ทั้ง​การ​ใส่​ร้าย​และ​การ​หมิ่น​ประมาท เพื่อ​ทำ​ให้​พวก​โพลิช เบรเทร็น​เสื่อม​เสีย​ชื่อเสียง. การ​โจมตี​ทำ​ได้​ง่าย​ขึ้น​เนื่อง​จาก​สถานการณ์​ทาง​การ​เมือง​ที่เปลี่ยน​แปลง​ใน​โปแลนด์. กษัตริย์​โปแลนด์​องค์​ใหม่ ซิกมูนท์​ที่ 3 วาซา เป็น​ศัตรู​ของ​พวก​โพลิช เบรเทร็น. ผู้​สืบ​ตำแหน่ง​ของ​เขา โดย​เฉพาะ​อย่าง​ยิ่ง​กษัตริย์​ยาน​ที่ 2 คาซีมเยช วาซา ได้​สนับสนุน​ความ​พยายาม​ของ​คริสตจักร​คาทอลิก​ที่​จะ​ขัด​ขวาง​พวก​โพลิช เบรเทร็น​เช่น​เดียว​กัน.

สถานการณ์​มา​ถึง​ขั้น​วิกฤติ​ด้วย​การ​กระทำ​ที่​เข้าใจ​กัน​ว่า​เป็น​การ​จงใจ​ดูหมิ่น​ไม้กางเขน​โดย​นัก​ศึกษา​บาง​คน​จาก​มหาวิทยาลัย​รา​คาว. เหตุ​การณ์​นี้​กลาย​เป็น​ข้อ​อ้าง​สำหรับ​การ​ทำลาย​ศูนย์กลาง​ของ​พวก​โพลิช เบรเทร็น. เจ้าของ​รา​คาว​ถูก​กล่าวหา​ต่อ​หน้า​รัฐสภา​เรื่อง ‘การ​เผยแพร่​ความ​ชั่ว’ โดย​การ​สนับสนุน​มหาวิทยาลัย​แห่ง​เมือง​รา​คาว​และ​แท่น​พิมพ์​ของ​เมือง​นั้น. พวก​โพลิช เบรเทร็น​ถูก​กล่าวหา​เรื่อง​กิจกรรม​ที่​เป็น​การ​บ่อน​ทำลาย, การ​เข้า​ร่วม​ใน​งาน​เลี้ยง​ปล่อย​ตัว​แบบ​ไม่​บันยะบันยัง, และ​การ​ดำเนิน​ชีวิต​ที่​ผิด​ศีลธรรม. รัฐสภา​ได้​ตัดสิน​ว่า​ควร​ปิด​มหาวิทยาลัย​รา​คาว​และ​ควร​ทำลาย​แท่น​พิมพ์​และ​โบสถ์​ที่​เป็น​ของ​พวก​โพลิช เบรเทร็น. มี​การ​สั่ง​ให้​สานุศิษย์​ออก​จาก​เมือง. พวก​ศาสตราจารย์​ของ​มหาวิทยาลัย​ถูก​เนรเทศ​ออก​จาก​ประเทศ​มิ​ฉะนั้น​จะ​ถูก​ลง​โทษ​ประหาร​ชีวิต. พวก​โพลิช เบรเทร็น​บาง​คน​ย้าย​ไป​ยัง​ที่​พำนัก​อัน​ปลอด​ภัย เช่น ไซ​ลีเซีย​และ​สโลวะเกีย.

ใน​ปี 1658 รัฐสภา​ออก​คำ​สั่ง​ให้​พวก​โพลิช เบรเทร็น​ขาย​ทรัพย์​สิน​ของ​พวก​เขา​แล้ว​ให้​ย้าย​ไป​ต่าง​ประเทศ​ภาย​ใน​สาม​ปี. ต่อ​มา เส้น​ตาย​นั้น​ถูก​ลด​ลง​เหลือ​สอง​ปี. ใคร ๆ ที่​ศรัทธา​ความ​เชื่อ​ของ​พวก​เขา​หลัง​จาก​นั้น​จะ​ถูก​ประหาร​ชีวิต.

พวก​โซซิเนียน​บาง​คน​ได้​ตั้ง​ถิ่น​ฐาน​ใน​เนเธอร์แลนด์ ที่​นั่น​พวก​เขา​ดำเนิน​กิจการ​การ​พิมพ์​ของ​ตน​ต่อ​ไป. ใน​ทรานซิลวาเนีย ประชาคม​หนึ่ง​ดำเนิน​งาน​ต่อ​ไป​จน​กระทั่ง​ตอน​ต้น​ศตวรรษ​ที่ 18. ณ การ​ประชุม​ของ​พวก​เขา ซึ่ง​จัด​ขึ้น​ถึง​สัปดาห์​ละ​สาม​ครั้ง พวก​เขา​ร้อง​เพลง​โดย​ใช้​บทเพลง​สรรเสริญ, ฟัง​คำ​เทศน์, และ​อ่าน​จาก​บทเรียน​แบบ​ถาม-ตอบ​ที่​ได้​รับ​การ​เตรียม​ไว้​เพื่อ​อธิบาย​คำ​สอน​ของ​พวก​เขา. เพื่อ​รักษา​ไว้​ซึ่ง​ความ​บริสุทธิ์​ของ​ประชาคม เพื่อน​ร่วม​ความ​เชื่อ​ได้​รับ​การ​แก้ไข, กระตุ้น​เตือน, และ​ถ้า​จำเป็น​ก็​ถูก​ไล่​ออก.

พวก​โพลิช เบรเทร็น​เป็น​นัก​ศึกษา​พระ​คำ​ของ​พระเจ้า. พวก​เขา​ได้​ค้น​พบ​ความ​จริง​อัน​ล้ำ​ค่า​บาง​ข้อ และ​พวก​เขา​ไม่​ลังเล​ที่​จะ​แบ่ง​ปัน​ความ​จริง​นั้น​ให้​กับ​คน​อื่น. อย่าง​ไร​ก็​ดี ใน​ที่​สุด พวก​เขา​กระจัด​กระจาย​ไป​ทั่ว​ยุโรป และ​พบ​ว่า​เป็น​การ​ยาก​ขึ้น​ทุก​ที​ที่​จะ​รักษา​ไว้​ซึ่ง​เอกภาพ. ใน​ที่​สุด พวก​โพลิช เบรเทร็น​ก็​สาบสูญ​ไป.

[เชิงอรรถ]

^ วรรค 5 อาริอุส (ส.ศ. 250-336) เป็น​บาทหลวง​แห่ง​อะเล็กซานเดรีย​ซึ่ง​โต้​แย้ง​ว่า​พระ​เยซู​ต่ำ​กว่า​พระ​บิดา. สภา​นีเซีย​ปฏิเสธ​ทัศนะ​ของ​เขา​ใน​ปี ส.ศ. 325.—โปรด​ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 มิถุนายน 1989 หน้า 27.

^ วรรค 9 โปรด​ดู​ตื่นเถิด! (ภาษา​อังกฤษ) ฉบับ 22 พฤศจิกายน 1988 หน้า 19 “พวก​โซซิเนียน—ทำไม​พวก​เขา​ปฏิเสธ​ตรีเอกานุภาพ?”

[ภาพ​หน้า 23]

บ้าน​หลัง​ที่​เคย​เป็น​ของ​นัก​เทศน์​โซซิเนียน

[ภาพ​หน้า 23]

ภาพ​บน: เมือง​รา​คาว​ใน​ปัจจุบัน; ด้าน​ขวา​เป็น​อาราม​ที่​สร้าง​ขึ้น​ใน​ปี 1650 เพื่อ​กำจัด​ร่องรอย​ใด ๆ ของ “นิกาย​อาเรียน”; ภาพ​ล่าง: ณ ที่​แห่ง​นี้​นัก​บวช​คาทอลิก​ได้​ตั้ง​ไม้กางเขน​ขึ้น​เพื่อ​ยั่ว​ยุ​ให้​เกิด​การ​ต่อ​สู้​กับ​พวก​โพลิช เบรเทร็น

[ที่​มา​ของ​ภาพ​หน้า 21]

Title card of Biblia nieświeska by Szymon Budny, 1572