ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘อย่าเลื่อยล้า’

‘อย่าเลื่อยล้า’

“ขอให้เราอย่าท้อถอยในการทำดี.”—กลา. 6:9

1, 2. นิมิตต่างๆเกี่ยวกับองค์การสากลของพระยะโฮวากระตุ้นเราให้ทำอะไร?

เป็นเรื่องน่าทึ่งเมื่อคิดถึงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสากลที่ใหญ่มหึมา. นิมิตที่เราอ่านในยะเอศเคล บท 1 และดานิเอล บท 7 พรรณนาให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าพระยะโฮวากำลังดำเนินการเพื่อทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จอย่างไร. พระเยซูกำลังนำองค์การของพระยะโฮวาส่วนที่อยู่บนแผ่นดินโลก โดยชี้นำองค์การนี้ให้ทำงานประกาศ สอนและหนุนกำลังใจคนที่ทำงานนี้ และช่วยคนอื่นๆให้เข้ามาเป็นผู้นมัสการพระยะโฮวา. เรื่องนี้กระตุ้นเราให้ไว้วางใจองค์การของพระยะโฮวาอย่างแท้จริง!—มัด. 24:45

2 เราเองก้าวทันองค์การที่ยอดเยี่ยมนี้ไหม? ความกระตือรือร้นของเราที่มีต่อความจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหรือกำลังลดลง? เมื่อพิจารณาคำถามเช่นนี้ เราอาจสังเกตเห็นว่าเราเริ่มเลื่อยล้าหรือเริ่มสูญเสียความกระตือรือร้นที่เราเคยมี. นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้. ในศตวรรษแรก อัครสาวกเปาโลต้องกระตุ้นเพื่อนคริสเตียนให้พิจารณาแบบอย่างของพระเยซูในเรื่องความกระตือรือร้น. เปาโลกล่าวว่าการทำอย่างนี้จะช่วยพวกเขาไม่ให้ “เหนื่อยล้าและหมดกำลังใจ.” (ฮีบรู 12:3) ในบทความก่อน เราพิจารณาเกี่ยวกับการงานอันยอดเยี่ยมที่องค์การของพระยะโฮวากำลังทำอยู่ในทุกวันนี้. เช่นเดียวกับที่ตัวอย่างของพระคริสต์หนุนใจคริสเตียนในศตวรรษแรก ตัวอย่างขององค์การของพระยะโฮวาก็สามารถช่วยเราในทุกวันนี้ให้เพียรอดทนในการรับใช้พระเจ้าและรักษาความกระตือรือร้นของเราไว้.

3. เราต้องทำอะไรเพื่อจะไม่เลื่อยล้า และเราจะพิจารณาอะไรในบทความนี้?

3 แต่เพื่อเราจะไม่ “เลื่อยล้า” หรือสูญเสียความกระตือรือร้นในการรับใช้พระเจ้า เราต้องทำไม่เพียงแค่คิดถึงตัวอย่างขององค์การของพระเจ้า. เปาโลกล่าวว่า เราต้อง “ทำดี” อยู่เสมอ. (กลา. 6:9) ขอให้เราพิจารณาห้าสิ่งที่เราต้องทำเพื่อจะช่วยเราให้รักษาความกระตือรือร้นและก้าวให้ทันองค์การของพระยะโฮวาอยู่เสมอ. เมื่อทำอย่างนี้แล้วเราก็จะตัดสินใจได้ว่ามีแง่มุมใดที่เราหรือครอบครัวเราต้องเอาใจใส่ให้มากขึ้น.

 จงประชุมเพื่อหนุนใจกันและนมัสการ

4. ทำไมเราจึงกล่าวได้ว่าการประชุมเป็นส่วนสำคัญในการนมัสการแท้มาโดยตลอด?

4 การประชุมเป็นกิจกรรมสำคัญของผู้รับใช้พระยะโฮวาเสมอมา. ในสวรรค์ พระยะโฮวาทรงประชุมกับเหล่าทูตสวรรค์ในโอกาสต่างๆ. (1 กษัต. 22:19; โยบ 1:6; 2:1; ดานิ. 7:10) ในสมัยโบราณ พระเจ้าทรงสั่งชาวอิสราเอลให้ประชุมกันเพื่อพวกเขาจะ “ได้ยินและเรียนรู้.” (บัญ. 31:10-12, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับ 1971) ชาวยิวในศตวรรษแรกพบกันเป็นประจำในธรรมศาลาเพื่ออ่านพระคัมภีร์. (ลูกา 4:16; กิจ. 15:21) เมื่อมีการก่อตั้งประชาคมคริสเตียนขึ้น ก็ยังคงมีการเน้นในเรื่องการประชุมร่วมกัน และนี่เป็นเรื่องสำคัญมากในการนมัสการจนกระทั่งทุกวันนี้. คริสเตียนแท้ “พิจารณากันและกันเพื่อเร้าใจให้เกิดความรักและการดี.” เราต้อง “ชูใจกัน และทำอย่างนั้นให้มากขึ้นเมื่อ [เรา] เห็นวัน [ของพระยะโฮวา] ใกล้เข้ามา.”—ฮีบรู 10:24, 25

5. เราจะหนุนใจกันและกันในการประชุมได้อย่างไร?

5 วิธีสำคัญวิธีหนึ่งที่เราจะหนุนใจคนอื่นในที่ประชุมได้คือการออกความคิดเห็น. เราสามารถแสดงความเชื่อของเราอย่างเปิดเผยด้วยการตอบคำถามที่อยู่ในข้อ ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับพระคัมภีร์ เล่าประสบการณ์สั้นๆที่แสดงให้เห็นว่าหลักการในคัมภีร์ไบเบิลเป็นประโยชน์ต่อเราอย่างไร หรือออกความคิดเห็นด้วยวิธีอื่นๆ. (เพลง. 22:22; 40:9) คุณคงเห็นด้วยแน่ๆว่าไม่ว่าเราเข้าร่วมการประชุมมากี่ปีแล้ว เราได้รับกำลังใจเสมอเมื่อได้ยินความคิดเห็นที่ออกมาจากใจของพี่น้องชายหญิง ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก.

6. การประชุมช่วยเราในทางใดบ้าง?

6 มีเหตุผลอะไรอีกที่พระเจ้าทรงเน้นความสำคัญของการประชุมร่วมกันเป็นประจำ? การประชุมประชาคม และการประชุมใหญ่ช่วยเราให้มีความกล้าที่จะประกาศและรับมือการต่อต้านหรือความไม่แยแสในเขตประกาศของเรา. (กิจ. 4:23, 31) คำบรรยายและส่วนอื่นๆที่อาศัยคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักเสริมความเชื่อของเราให้เข้มแข็ง. (กิจ. 15:32; โรม 1:11, 12) คำสอนและการหนุนใจที่เราได้รับในการประชุมเพื่อนมัสการช่วยเราให้มีความสุขอย่างแท้จริง และ “ได้รับความบรรเทาในยามเดือดร้อน.” (เพลง. 94:12, 13, พระคริสตธรรมคัมภีร์ ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย) คณะกรรมการฝ่ายการสอนของคณะกรรมการปกครองเตรียมระเบียบวาระการประชุมต่างๆของประชาชนของพระยะโฮวาทั่วโลก. เรารู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับการสอนอันยอดเยี่ยมที่เราได้รับในการประชุมทุกๆสัปดาห์ตลอดทั้งปี!

7, 8. (ก) เหตุผลที่สำคัญที่สุดที่เราต้องเข้าร่วมการประชุมคืออะไร? (ข) การประชุมช่วยคุณอย่างไร?

7 อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เข้าร่วมการประชุมเพียงเพราะเราได้รับประโยชน์เท่านั้น. เหตุผลสำคัญที่สุดที่เราเข้าร่วมการประชุมคือเพื่อนมัสการพระยะโฮวา. (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 95:6) นับเป็นสิทธิพิเศษจริงๆที่เราสามารถร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าองค์ยิ่งใหญ่ของเรา! (โกโล. 3:16) เรายังสรรเสริญพระยะโฮวาด้วยการออกความคิดเห็นในการประชุมได้ด้วย. แน่นอน พระยะโฮวาทรงคู่ควรจะได้รับการนมัสการจากเราด้วยวิธีเหล่านี้. (วิ. 4:11) ดังนั้น เราจึงเข้าใจได้ว่าทำไมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ!—ฮีบรู 10:25

8 การประชุมของเราเป็นของประทานจากพระยะโฮวาที่ช่วยเราให้อดทนจนถึงเวลาที่พระองค์ทำลายระบบชั่วนี้. เรารู้สึกอย่างนั้นไหม? ถ้าเรารู้สึกอย่างนั้น เราก็จะพยายามเข้าร่วมการประชุมทุกรายการ แม้ว่าชีวิตเราจะมีธุระยุ่ง. (ฟิลิป. 1:10) เราไม่ควรขาดการประชุมยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ.

 จงประกาศอย่างกระตือรือร้น

9. เรารู้ได้อย่างไรว่าการประกาศเป็นงานสำคัญ?

9 การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานประกาศจะช่วยเราให้ก้าวทันองค์การของพระยะโฮวา. พระเยซูทรงริเริ่มทำงานนี้เมื่อพระองค์อยู่บนแผ่นดินโลก. (มัด. 28:19, 20) นับแต่นั้นมา งานประกาศเรื่องราชอาณาจักรและงานสอนคนให้เป็นสาวกก็ได้กลายเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งขององค์การทั้งสิ้นของพระยะโฮวา. มีประสบการณ์มากมายในสมัยปัจจุบันที่แสดงให้เห็นว่าเหล่าทูตสวรรค์กำลังสนับสนุนงานของเราและนำเราไปหาคนที่ “เต็มใจตอบรับความจริงซึ่งทำให้ได้ชีวิตนิรันดร์.” (กิจ. 13:48; วิ. 14:6, 7) และจุดประสงค์หลักที่มีการตั้งองค์การของพระยะโฮวาบนแผ่นดินโลกก็คือเพื่อจัดระเบียบและสนับสนุนงานประกาศ. งานนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณไหม?

10. (ก) พี่น้องคนหนึ่งรักษาความรักที่เขามีต่อความจริงให้แรงกล้าเสมออย่างไร? (ข) งานรับใช้ช่วยคุณไม่ให้เลื่อยล้าได้อย่างไร?

10 เมื่อเราประกาศอย่างกระตือรือร้น ความรักที่เรามีต่อความจริงก็จะยิ่งมากขึ้น. นี่คือความรู้สึกของมิตเชลซึ่งเป็นผู้ปกครองและเป็นไพโอเนียร์ประจำมานาน. เขากล่าวว่า “ผมชอบประกาศความจริงแก่คนอื่นๆ. เมื่อผมได้รับหอสังเกตการณ์ และตื่นเถิด! ฉบับใหม่ ผมรู้สึกทึ่งที่เห็นว่าในแต่ละฉบับมีบทความที่ให้สติปัญญา ให้ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง และเขียนอย่างมีเหตุผลมาก. ผมอยากออกประกาศเพื่อจะเห็นว่าผู้คนมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อวารสารของเรา และดูว่าผมจะกระตุ้นให้พวกเขาสนใจได้อย่างไร.”  มิตเชลยังกล่าวด้วยว่างานประกาศช่วยเขาให้จัดสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตมาเป็นอันดับแรกเสมอและไม่ยอมให้อะไรมาแย่งเวลาของเขาไปจากงานนี้. เราเองก็สามารถยืนหยัดมั่นคงต่อๆไปในสมัยสุดท้ายนี้ถ้าเราขยันขันแข็งในการรับใช้พระเจ้าอยู่เสมอ.—อ่าน 1 โครินท์ 15:58

จงรับประโยชน์จากอาหารฝ่ายวิญญาณ

11. ทำไมเราควรอ่านและใคร่ครวญอาหารฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับ?

11 พระยะโฮวาประทานอาหารฝ่ายวิญญาณแก่เราอย่างมากมายเพื่อช่วยให้เราเข้มแข็ง. คุณอาจจำได้ตอนที่คุณอ่านหนังสือของเราแล้วคิดว่า ‘นี่แหละคือสิ่งที่ฉันจำเป็นต้องได้รับ! ฉันรู้สึกว่าพระยะโฮวาทรงเขียนเรื่องนี้สำหรับฉันโดยเฉพาะเลย!’ นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ. หนังสือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่พระยะโฮวาทรงใช้เพื่อสอนและชี้นำเรา. พระองค์ตรัสว่า “เราจะสั่งสอนและแนะนำท่านตามทางที่ท่านจะไป.” (เพลง. 32:8) เราพยายามอ่านและใคร่ครวญอาหารฝ่ายวิญญาณทุกอย่างที่ได้รับไหม? การทำอย่างนี้จะช่วยเราให้เพียรอดทนและรักษาความกระตือรือร้นอยู่เสมอในการรับใช้พระเจ้าในสมัยสุดท้ายที่ยุ่งยากลำบากนี้.—อ่านบทเพลงสรรเสริญ 1:1-3; 35:28

12. อะไรอาจช่วยเราให้เห็นคุณค่าอาหารฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับ?

12 เราจะเห็นคุณค่าหนังสือที่เราได้รับมากขึ้นถ้าเราคิดถึงงานทั้งหมดที่ต้องทำเพื่อผลิตหนังสือเหล่านี้. คณะกรรมการฝ่ายการเขียนของคณะกรรมการปกครองดูแลขั้นตอนต่างๆ ทั้งในการค้นคว้า การเขียน การพิสูจน์อักษร การจัดทำภาพประกอบ และการแปล รวมถึงการลงเรื่องต่างๆในเว็บไซต์ของเรา. สำนักงานสาขาที่มีโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือเหล่านี้แล้วส่งไปยังประชาคมต่างๆ. ทำไมจึงต้องทำงานมากมายอย่างนั้น? ที่เป็นอย่างนี้ก็เพื่อประชาชนของพระยะโฮวาจะได้รับการสอนและการชี้นำที่จำเป็นเพื่อจะรักษาความซื่อสัตย์อยู่เสมอ. (ยซา. 65:13) ขอให้เรารับประโยชน์อย่างเต็มที่จากอาหารฝ่ายวิญญาณที่เราได้รับจากองค์การของพระยะโฮวา.—เพลง. 119:27

จงสนับสนุนองค์การของพระยะโฮวา

13, 14. ใครที่อยู่ในสวรรค์ซึ่งกำลังสนับสนุนองค์การของพระยะโฮวา และเราจะสนับสนุนองค์การนี้ได้อย่างไร?

13 ในนิมิตหนึ่ง อัครสาวกโยฮันเห็นพระเยซูขี่ม้าขาวออกไปเพื่อพิชิตคนเหล่านั้นที่ขืนอำนาจพระยะโฮวา. (วิ. 19:11-15) ท่านยังเห็นเหล่าผู้ถูกเจิมที่ซื่อสัตย์ซึ่งได้รับการปลุกให้เป็นขึ้นจากตายให้มีชีวิตในสวรรค์และเหล่าทูตสวรรค์ที่ซื่อสัตย์ขี่ม้าตามพระเยซูไปติดๆ. (วิ. 2:26, 27) ตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของพวกเขาสอนเราว่าเราควรสนับสนุนผู้ที่นำหน้าในองค์การของพระยะโฮวา.

14 คล้ายกัน ชนฝูงใหญ่สนับสนุนงานของเหล่าพี่น้องของพระคริสต์ที่ได้รับการเจิมซึ่งยังอยู่บนแผ่นดินโลกอย่างเต็มที่. (อ่านซะคาระยา 8:23) เราจะสนับสนุนองค์การของพระยะโฮวาได้อย่างไร? วิธีหนึ่งก็คือโดยเชื่อฟังผู้ที่นำหน้า โดยเริ่มจากในประชาคมของเราเอง. (ฮีบรู 13:7, 17) สิ่งที่เราพูดเกี่ยวกับผู้ปกครองในประชาคมของเราสนับสนุนคนอื่นๆให้นับถือพวกเขาและงานที่พวกเขาทำไหม? เราสอนลูกให้นับถือชายผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้และเชื่อฟังคำแนะนำของพวกเขาไหม? มีวิธีอื่นๆด้วยที่เราสามารถสนับสนุนองค์การ. ตัวอย่างเช่น เราจะวางแผนด้วยกันกับครอบครัวที่จะบริจาคเพื่อสนับสนุนงานประกาศทั่วโลกได้ไหม? (สุภา. 3:9; 1 โค. 16:2; 2 โค. 8:12) นอกจากนั้น เราเห็นความสำคัญของสิทธิพิเศษที่จะร่วมในการทำความสะอาดและบำรุงรักษาหอประชุมราชอาณาจักรไหม? เมื่อพระยะโฮวาทรงเห็นว่าเราสนับสนุนองค์การของพระองค์ด้วยวิธีเหล่านี้ พระองค์จะประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์แก่เรา. พระวิญญาณของพระองค์จะทำให้เรามีกำลังเข้มแข็งเพื่อจะอดทนได้ในสมัยสุดท้ายนี้.—ยซา. 40:29-31

 จงดำเนินชีวิตสอดคล้องกับข่าวสารที่เราประกาศ

15. ทำไมเราต้องต่อสู้อย่างหนักอยู่เสมอเพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้อง?

15 เพื่อจะเพียรอดทนและก้าวให้ทันองค์การของพระยะโฮวาอยู่เสมอ เราต้องดำเนินชีวิตสอดคล้องกับข่าวสารที่เราประกาศโดย “ตรวจดูให้แน่ใจว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าพอพระทัยสิ่งใด.” (เอเฟ. 5:10, 11) ซาตาน โลกชั่วนี้ และความไม่สมบูรณ์ของเราทำให้เป็นเรื่องยากที่เราจะทำสิ่งที่ถูกต้อง. พี่น้องที่รักของเราบางคนได้ต่อสู้อย่างหนักทุกๆวันเพื่อรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา. พระยะโฮวาทรงรักคุณที่ได้พยายามทำอย่างนี้. อย่าท้อถอย! เมื่อเราดำเนินชีวิตสอดคล้องกับพระประสงค์ของพระยะโฮวา เรามีชีวิตที่มีความหมายและมีความสุข และเรามั่นใจได้ว่าพระยะโฮวาทรงพอพระทัย.—1 โค. 9:24-27

จงกระตือรือร้นในการช่วยคนอื่นให้เข้าใจว่าพวกเขาเองจะเป็นส่วนหนึ่งในองค์การของพระยะโฮวาได้ด้วย

16, 17. (ก) เราควรทำอะไรถ้าพลาดพลั้งทำผิดร้ายแรง? (ข) เราเรียนรู้อะไรได้จากประสบการณ์ของแอนเน?

16 แต่เราควรทำอะไรถ้าเราทำผิดร้ายแรง? จงรับความช่วยเหลือโดยเร็วเท่าที่เป็นไปได้. การปกปิดความผิดไว้จะยิ่งทำให้มีปัญหาหนักขึ้นไปอีก. ขอให้จำไว้ว่าดาวิดรู้สึกอย่างไรเมื่อท่านพยายามปกปิดความผิดของท่าน. ท่านกล่าวว่า “กระดูกก็เหี่ยวแห้งไปโดยข้าพเจ้าครางอยู่ตลอดวัน.” (เพลง. 32:3) การปกปิดความผิดไว้จะทำให้เราหมดความยินดีและอาจถึงกับทำให้เราสูญเสียสายสัมพันธ์ที่ดีกับพระยะโฮวา. แต่ถ้าเราสารภาพ เราจะ “ประสบความเมตตา.”—สุภา. 28:13

17 ขอให้พิจารณาประสบการณ์ของแอนเน. * ตอนที่แอนเนอายุเกือบยี่สิบปีและกำลังรับใช้เป็นไพโอเนียร์ประจำ เธอแอบทำผิด. ผลก็คือ สติรู้สึกผิดชอบรบกวนใจเธอ. เธอบอกว่า “ดิฉันไม่มีความสุขและเศร้าซึมอยู่ตลอด.” เธอทำอย่างไร? เธอเล่าว่าวันหนึ่งที่หอประชุมมีการพิจารณายาโกโบ 5:14, 15. แอนเนสำนึกว่าเธอจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ เธอจึงทำตามคำแนะนำในพระคัมภีร์ข้อนี้และเข้าไปคุยกับผู้ปกครอง. การทำอย่างนี้ไม่ง่ายเลย แต่เธอกล่าวว่านี่เป็นเหมือนกับเธอเป็นคนป่วยและพระยะโฮวาทรงสั่งจ่ายยาที่จะช่วยรักษาเธอ. เธอบอกว่า “ยานี้เป็นยาที่กินยาก แต่ว่าช่วยรักษาดิฉันให้หายป่วย.” ตอนนี้ แอนเนรับใช้พระยะโฮวาอย่างกระตือรือร้นและมีสติรู้สึกผิดชอบที่ดี.

18. เราควรตั้งใจแน่วแน่เช่นไร?

18 นับเป็นสิทธิพิเศษจริงๆที่เรามีชีวิตอยู่ในสมัยสุดท้ายและเป็นส่วนหนึ่งในองค์การอันยิ่งใหญ่ของพระยะโฮวา! ขอให้เราตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่มองข้ามความสำคัญของสิทธิพิเศษนี้. ขอให้เราและครอบครัวของเราพยายามเข้าร่วมการประชุมเป็นประจำ ประกาศอย่างกระตือรือร้นในเขตทำงานของเรา และรับประโยชน์เต็มที่จากอาหารฝ่ายวิญญาณที่พระยะโฮวาประทานแก่เรา. ขอให้เราสนับสนุนคนที่นำหน้า และดำเนินชีวิตสอดคล้องกับข่าวสารที่เราประกาศ. ถ้าเราทำอย่างนั้น ไม่เพียงแต่เราจะก้าวทันองค์การของพระยะโฮวา แต่เราจะไม่เลื่อยล้าในการทำดีด้วย!

^ วรรค 17 ชื่อสมมุติ.