ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

‘จงตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน’

‘จงตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน’

“จงมีสติ คอยตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน.”—1 เป. 4:7

1, 2. (ก) ทำไมจึงสำคัญที่จะ “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน”? (ข) เราควรถามตัวเองอย่างไร?

ชายคนหนึ่งซึ่งเคยทำงานตอนกลางคืนกล่าวว่า “ช่วงเวลาที่ยากที่สุดที่จะตื่นตัวในตอนกลางคืนก็คือช่วงใกล้จะถึงรุ่งเช้า.” คนอื่นที่ต้องอยู่ทั้งคืนโดยไม่นอนคงเห็นด้วยกับคำพูดของเขา. เราอาจเทียบเรื่องนี้ได้กับสมัยที่เรามีชีวิตอยู่นี้. เราอยู่ในช่วงสุดท้ายของโลกซาตาน. เวลานี้เป็นเหมือนช่วงที่มืดที่สุดในตอนกลางคืน และคริสเตียนในปัจจุบันต้องต่อสู้เพื่อจะตื่นอยู่เสมอ. (โรม 13:12) นับว่าอันตรายมากถ้าเราผล็อยหลับไปในตอนนี้! เราต้อง “มีสติ” และ “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” ต่อไป.—1 เป. 4:7

2 เนื่องจากใกล้จะถึงอวสานของโลกซาตานแล้ว เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันเอาใจใส่การอธิษฐานมากขนาดไหน? ฉันอธิษฐานหลายแบบและอธิษฐานอยู่เสมอไหม? ฉันมักอธิษฐานเพื่อผู้อื่นไหม หรือว่าฉันอธิษฐานเฉพาะเรื่องที่ฉันจำเป็นหรือต้องการเท่านั้น? การอธิษฐานสำคัญเพียงไรสำหรับความรอดของฉัน?’

จงอธิษฐานหลายแบบ

3. เราควรอธิษฐานแบบใดบ้าง?

3 ในจดหมายที่อัครสาวกเปาโลเขียนถึงชาวเอเฟโซส์ ท่านกล่าวถึง “คำวิงวอนทุกอย่าง.” (เอเฟ. 6:18) เมื่อเราอธิษฐานถึงพระยะโฮวา เรามักขอให้พระองค์ช่วยเราให้มีสิ่งจำเป็นและช่วยเราแก้ปัญหา. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระองค์เป็น “ผู้สดับคำอธิษฐาน” และเพราะพระองค์รักเรา พระองค์จึงฟังเราเมื่อเราขอความช่วยเหลือจากพระองค์. (เพลง. 65:2) แต่เมื่อเราอธิษฐาน เราไม่ควรเพียงแต่ขอสิ่งที่เราจำเป็นเท่านั้น. เราควรสรรเสริญพระยะโฮวา ขอบคุณพระองค์ และวิงวอนพระองค์ด้วย.

4. ทำไมเราควรสรรเสริญพระยะโฮวาบ่อยเมื่อเราอธิษฐาน?

4 มีเหตุผลหลายอย่างที่เราควรสรรเสริญ พระยะโฮวาในคำอธิษฐานของเรา. ตัวอย่างเช่น เราต้องการจะสรรเสริญพระองค์เมื่อเราคิดถึง “การอิทธิฤทธิ์ของพระองค์” และ “พระลักษณะใหญ่ ยิ่งบริบูรณ์ของพระองค์.” (อ่านบทเพลงสรรเสริญ 150:1-6 ) ขอให้สังเกตเพลงสรรเสริญบท 150. แค่หกข้อในบทนี้ มีการกล่าวถึงการสรรเสริญพระยะโฮวาถึง 13 ครั้ง. ผู้เขียนบทเพลงสรรเสริญอีกคนหนึ่งแสดงความรักอย่างลึกซึ้งต่อพระยะโฮวาเมื่อเขาร้องเพลงว่า “ข้าพเจ้าถวายความสรรเสริญแก่พระองค์วันละเจ็ดครั้ง, เพราะเหตุกฎอันชอบธรรมของพระองค์.” (เพลง. 119:164) พระยะโฮวาสมควรจะได้รับคำสรรเสริญอย่างแน่นอน. ดังนั้น เราควรสรรเสริญพระองค์ในคำอธิษฐาน “วันละเจ็ดครั้ง” ซึ่งหมายความว่าเราควรทำอย่างนั้นบ่อยๆ.

5. การแสดงความขอบคุณพระยะโฮวาในคำอธิษฐานช่วยปกป้องเราอย่างไร?

5 คำอธิษฐานอีกแบบหนึ่งคือการขอบพระคุณ. เปาโลกระตุ้นเตือนคริสเตียนในเมืองฟิลิปปอยว่า “อย่าวิตกกังวลกับสิ่งใด แต่จงทูลทุกสิ่งที่พวกท่านปรารถนาต่อพระเจ้าโดยการอธิษฐานและการวิงวอนพร้อมกับการขอบพระคุณ.” (ฟิลิป. 4:6) เนื่องจากเราอยู่ในสมัยสุดท้ายของโลกซาตานและผู้คนที่อยู่รอบตัวเราเป็นคน “อกตัญญู” จึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะขอบคุณพระยะโฮวาจากใจสำหรับพระพรทั้งหมดที่ได้จากพระองค์ เพื่อเราจะไม่กลายเป็นเหมือนผู้คนในโลก. (2 ติโม. 3:1, 2) ทัศนคติที่ไม่สำนึกบุญคุณมีอยู่ทั่วไปในโลกนี้. ถ้าเราไม่ระวัง เราอาจเริ่มเลียนแบบทัศนคติเช่นนี้. แต่ถ้าเราขอบคุณพระยะโฮวาเมื่อเราอธิษฐาน เราจะมีความสุขและไม่บ่นเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง. (ยูดา 16) เมื่อหัวหน้าครอบครัวอธิษฐานกับครอบครัวโดยกล่าวขอบคุณพระยะโฮวาด้วย นั่นจะสนับสนุนภรรยาและลูกให้เป็นคนสำนึกบุญคุณ.

6, 7. การวิงวอนคืออะไร? เราสามารถวิงวอนต่อพระยะโฮวาในเรื่องใดบ้าง?

6 การวิงวอน เป็นการอธิษฐานอย่างจริงใจด้วยความรู้สึกที่แรงกล้า. เราจะวิงวอนพระยะโฮวาในเรื่องใดได้บ้าง? เราสามารถขอให้พระยะโฮวาช่วยเมื่อเราถูกข่มเหงหรือเมื่อเราป่วยหนัก. ในเวลาอย่างนี้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เราคงจะวิงวอนขอให้พระยะโฮวาช่วย. แต่เราควรวิงวอนเฉพาะตอนที่เราถูกข่มเหงหรือป่วยไหม?

7 เพื่อช่วยเราตอบคำถามนี้ ขอให้เราพิจารณาคำอธิษฐานแบบอย่างของพระเยซูที่พูดถึงพระนามของพระเจ้า ราชอาณาจักรของพระเจ้า และพระประสงค์ของพระเจ้า. (อ่านมัดธาย 6:9, 10 ) มีความชั่วมากมายในโลกนี้ และรัฐบาลมนุษย์ไม่สามารถสนองความจำเป็นของประชาชนได้ แม้แต่สิ่งจำเป็นพื้นฐาน. นี่ทำให้เรามีเหตุผลที่ดีที่จะอธิษฐานขอให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่นับถืออันบริสุทธิ์และขอให้ราชอาณาจักรของพระองค์มาขจัดการปกครองของซาตานออกไป. และนี่ยังเป็นเวลาที่เราควรอธิษฐานขอให้พระยะโฮวาทำให้พระประสงค์ของพระองค์สำเร็จบนแผ่นดินโลกเหมือนกับที่สำเร็จแล้วในสวรรค์. ดังนั้น เราควรตื่นตัวอยู่เสมอและอธิษฐานหลายแบบ.

“อธิษฐานไม่หยุดหย่อน”

8, 9. ทำไมเราไม่ควรตำหนิเปโตรและอัครสาวกคนอื่นที่หลับไปในสวนเกทเซมาเน?

8 เปโตรกระตุ้นคริสเตียนให้ “คอยตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” แต่มีอย่างน้อยครั้งหนึ่งที่ท่านเองไม่ได้ทำอย่างนั้น. ท่านเป็นสาวกคนหนึ่งที่ผล็อยหลับไปขณะที่พระเยซูกำลังอธิษฐานอยู่ในสวนเกทเซมาเน. ถึงแม้ว่าพระเยซูบอกพวกเขาให้ “เฝ้าระวังอยู่เสมอและอธิษฐานไม่หยุดหย่อน” แต่พวกเขาก็ยังหลับ.—อ่านมัดธาย 26:40-45

9 แทนที่เราจะตำหนิเปโตรและอัครสาวกคนอื่นที่หลับ เราไม่ควรลืมว่าพวกเขาเหนื่อยมากเพราะต้องทำหลายอย่างในวันนั้น. พวกเขาเตรียมสำหรับปัศคาและฉลองเทศกาลนี้ในเย็นวันนั้น. หลังจากนั้น พระเยซูตั้งอาหารมื้อเย็นขององค์พระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นการวางแบบอย่างไว้ให้เหล่าสาวกรู้ว่าพวกเขาต้องทำอย่างไรในการประชุมอนุสรณ์ระลึกถึงการสิ้นชีวิตของพระองค์. (1 โค. 11:23-25) คัมภีร์ไบเบิล บอกว่า “เมื่อร้องเพลงสรรเสริญแล้ว พระองค์กับเหล่าสาวกจึงออกไปยังภูเขามะกอก.” เพื่อจะไปถึงที่นั่น พวกเขาต้องเดินไกลพอสมควร ผ่านถนนต่างของกรุงเยรูซาเลม. (มัด. 26:30, 36) กว่าพวกเขาจะไปถึงภูเขามะกอกก็คงจะเลยเที่ยงคืนไปนานแล้ว. ถ้าเราอยู่ในสวนเกทเซมาเนในคืนนั้น เราก็อาจหลับไปเหมือนกัน. พระเยซูไม่ได้ตำหนิเหล่าอัครสาวกที่เหนื่อยล้า. แทนที่จะทำอย่างนั้น พระองค์ยอมรับว่า “ใจกระตือรือร้นก็จริง แต่กายนั้นอ่อนแอ.”

แม้ว่าเปโตรพลั้งพลาด แต่ท่านเรียนรู้ที่จะ “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” (ดูข้อ 10, 11)

10, 11. (ก) เปโตรได้บทเรียนอะไรจากประสบการณ์ของท่านในสวนเกทเซมาเน? (ข) คุณเรียนอะไรได้จากประสบการณ์ของเปโตร?

10 ในคืนที่เปโตรหลับไปในสวนเกทเซมาเน ท่านได้บทเรียนที่เจ็บปวดแต่สำคัญมาก. ก่อนหน้านั้น พระเยซูบอกว่า “คืนนี้เจ้าทั้งหลายจะทิ้งเราไปเนื่องจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเรา.” แต่เปโตรตอบว่า “แม้ทุกคนจะทิ้งพระองค์ไปเนื่องจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่ทิ้งพระองค์ไปเลย!” แล้วพระเยซูก็บอกว่าเปโตรจะปฏิเสธพระองค์สามครั้ง. แต่เปโตรไม่ยอมเชื่อและพูดว่า “แม้ข้าพเจ้าจะต้องตายกับพระองค์ ข้าพเจ้าจะไม่ปฏิเสธพระองค์เลย.” (มัด. 26:31-35) คำพูดของพระเยซูเป็นจริงเมื่อเปโตรปฏิเสธว่าไม่รู้จักพระองค์. เมื่อรู้ตัวว่าได้ทำอะไรลงไป เปโตรก็เสียใจมากและ “ออกไปร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจ.”—ลูกา 22:60-62

11 จากประสบการณ์ครั้งนี้ เปโตรได้บทเรียนว่าไม่ควรไว้ใจตัวเองมากเกินไป. การอธิษฐานช่วยท่านให้ทำอย่างนี้. เรารู้ได้อย่างไร? เพราะคำแนะนำที่ให้ “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” มาจากเปโตร. เราฟังคำแนะนำนี้ไหม? เราอธิษฐานอยู่เสมอซึ่งแสดงว่าเราไว้วางใจพระยะโฮวาไหม? (เพลง. 78:7) ขอให้เราระลึกถึงคำแนะนำของเปาโลด้วย ที่ว่า “ให้ผู้ที่คิดว่าตนยืนมั่นอยู่แล้วระวังให้ดีจะได้ไม่ล้มลง.”—1 โค. 10:12

คำอธิษฐานของนะเฮมยาได้รับคำตอบ

12. ทำไมนะเฮมยาจึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรา?

12 อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีคือนะเฮมยา. ท่านเป็นพนักงานรินเครื่องดื่มถวายกษัตริย์อาร์ทาเซอร์เซสแห่งเปอร์เซียซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนสมัยพระคริสต์ประมาณ 450 ปี. นะเฮมยาเป็นคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิษฐานถึงพระยะโฮวาอย่างสุดหัวใจ. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าท่านอดอาหารและอธิษฐานอยู่หลายวันในเรื่องความลำบากเดือดร้อนของชาวยิวในกรุงเยรูซาเลม. (นเฮม. 1:4) เมื่ออาร์ทาเซอร์เซสถามว่าทำไมนะเฮมยาจึงดูเศร้าหมองและอยากให้กษัตริย์ช่วยอะไร ท่าน “ได้อธิษฐานทูลขอพระองค์ผู้เป็นเจ้าของฟ้าสวรรค์ให้ทรง พระกรุณาโปรด.” (นเฮม. 2:2-4) ผลเป็นอย่างไร? พระยะโฮวาตอบคำอธิษฐานของท่านด้วยวิธีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของพระองค์. (นเฮม. 2:5, 6) ประสบการณ์ในครั้งนี้คงต้องทำให้ความเชื่อของนะเฮมยามั่นคงยิ่งขึ้นแน่ๆ!

13, 14. เราควรทำอะไรเพื่อจะมีความเชื่อที่มั่นคงและไม่ปล่อยให้ซาตานทำให้เราท้อแท้?

13 ถ้าเราอธิษฐานอยู่เสมอเหมือนกับนะเฮมยา นั่นจะช่วยให้เรามีความเชื่อที่มั่นคง. ซาตานไม่เคยเมตตาใคร และมันมักจะโจมตีเราเมื่อเราอ่อนแอ. ตัวอย่างเช่น ถ้าเราป่วยหนักหรือรู้สึกท้อแท้ เราอาจเริ่มรู้สึกว่าพระเจ้าไม่เห็นค่าที่เราประกาศในแต่ละเดือน. พวกเราบางคนอาจมีความคิดบางอย่างที่ทำให้ทุกข์ใจมาก ซึ่งก็อาจเป็นเพราะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต. ซาตานอยากให้เราเชื่อว่าเราเป็นคนไร้ค่า. มันพยายามใช้ความรู้สึกในแง่ลบเหล่านี้เพื่อทำให้ความเชื่อของเราอ่อนลง. แต่ถ้าเรา “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” เราจะมีความเชื่อที่มั่นคงต่อไปได้. คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าความเชื่อของเราเป็นเหมือนโล่ใหญ่ที่ช่วยเราดับ “ลูกศรเพลิงทั้งหมดของตัวชั่วร้ายนั้น.”—เอเฟ. 6:16

การ “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” ช่วยเราให้รักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวาเมื่อถูกทดสอบ (ดูข้อ 13, 14)

14 ถ้าเรา “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” เราจะพร้อมรับการทดสอบและรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระยะโฮวา. เมื่อเราถูกทดสอบ เราควรนึกถึงตัวอย่างของนะเฮมยาและอธิษฐานถึงพระเจ้าทันที. เฉพาะแต่เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากพระยะโฮวาเท่านั้นเราจึงจะต้านทานการล่อใจและอดทนการทดสอบความเชื่อได้.

อธิษฐานเพื่อคนอื่น

15. เราควรถามตัวเองอย่างไรเกี่ยวกับการอธิษฐานเพื่อผู้อื่น?

15 พระเยซูทูลวิงวอนเพื่อความเชื่อของอัครสาวกเปโตรจะไม่หมดไป. (ลูกา 22:32) เอปาฟรัส ซึ่ง เป็นคริสเตียนในศตวรรษแรก เลียนแบบตัวอย่างของพระเยซู. เอปาฟรัสพยายามอธิษฐานเพื่อพี่น้องในเมืองโกโลซาย. เปาโลเขียนถึงพี่น้องในเมืองนี้ว่า “เขาพากเพียรอธิษฐานเพื่อท่านทั้งหลายเสมอ เพื่อในที่สุด ท่านทั้งหลายจะยืนหยัดมั่นคงด้วยความเชื่อมั่นอันหนักแน่นในพระประสงค์ทุกอย่างของพระเจ้า.” (โกโล. 4:12) เราควรถามตัวเองว่า ‘ฉันพยายามจริงที่จะอธิษฐานเพื่อพี่น้องทั่วโลกไหม? ฉันอธิษฐานเพื่อพี่น้องที่ประสบภัยธรรมชาติบ่อยขนาดไหน? ฉันอธิษฐานเพื่อคนที่มีความรับผิดชอบมากในองค์การของพระยะโฮวาครั้งสุดท้ายเมื่อไร? เมื่อไม่นานมานี้ ฉันได้อธิษฐานเพื่อพี่น้องในประชาคมที่ประสบปัญหาไหม?’

16. การอธิษฐานเพื่อพี่น้องของเราเป็นเรื่องสำคัญจริงไหม? จงอธิบายว่าทำไมจึงเป็นอย่างนั้น.

16 การอธิษฐานถึงพระยะโฮวาเพื่อพี่น้องของเราสามารถช่วยพวกเขาได้จริงๆ. (อ่าน 2 โครินท์ 1:11 ) พระยะโฮวาไม่จำเป็นต้องลงมือทำอะไรเพียงเพราะมีผู้รับใช้หลายคนอธิษฐานขอครั้งแล้วครั้งเล่า. พระองค์ตอบคำอธิษฐานของพวกเขาด้วยพระองค์เอง. อย่างไรก็ตาม พระองค์ยินดีที่เห็นว่าพวกเขาสนใจและเป็นห่วงกันอย่างแท้จริง. ดังนั้น เราควรถือเป็นความรับผิดชอบที่จะอธิษฐานเพื่อผู้อื่นอย่างจริงจัง. เราควรเลียนแบบเอปาฟรัสและแสดงความรักต่อพี่น้องคริสเตียนด้วยการพยายามอธิษฐานเพื่อพวกเขา. ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะมีความสุขมากขึ้นเพราะ “การให้ทำให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ.”—กิจ. 20:35

‘ความรอดของเราอยู่ใกล้’

17, 18. การ “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” จะช่วยเราอย่างไร?

17 ก่อนที่เปาโลจะกล่าวว่า “กลางคืนล่วงไปมากแล้วและกลางวันก็ใกล้เข้ามา” ท่านเขียนว่า “พวกท่านรู้ว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ควรจะตื่นจากหลับได้แล้ว เพราะเวลานี้ความรอดของเราก็อยู่ใกล้กว่าตอนที่เราเข้ามาเชื่อถือ.” (โรม 13:11, 12) โลกใหม่ของพระเจ้าใกล้จะถึงแล้ว และความรอดของเราก็อยู่ใกล้กว่าที่เราอาจคิดไว้. นี่ไม่ใช่เวลาที่จะหลับฝ่ายวิญญาณ. เราไม่ควรปล่อยให้โลกนี้แย่งเวลาที่เราจะอยู่ตามลำพังเพื่ออธิษฐานถึงพระยะโฮวา. แทนที่จะเป็นอย่างนั้น เราต้อง “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน.” ถ้าเราทำอย่างนั้น ก็จะช่วยเราให้ ‘เป็นคนที่ประพฤติบริสุทธิ์และทำสิ่งที่แสดงว่าเราเลื่อมใสพระเจ้า’ ขณะที่เราคอยท่าวันของพระยะโฮวา. (2 เป. 3:11, 12) วิธีที่เราดำเนินชีวิตจะเผยให้เห็นว่าเราตื่นตัวฝ่ายวิญญาณอยู่หรือไม่และเราเชื่อจริงไหมว่าใกล้จะถึงอวสานของระบบชั่วนี้แล้ว. ดังนั้น ขอให้เรา “อธิษฐานไม่หยุดหย่อน.” (1 เทส. 5:17) เราควรเลียนแบบพระเยซูโดยหาที่ที่เราจะอยู่ตามลำพังเพื่ออธิษฐานถึงพระยะโฮวา. ถ้าเราใช้เวลามากพอในการอธิษฐานถึงพระยะโฮวา ก็จะทำให้เราใกล้ชิดพระองค์ยิ่งขึ้น. (ยโก. 4:7, 8) นั่นจะเป็นพระพรที่ยอดเยี่ยมจริงๆ!

18 คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่า “ขณะที่ทรงเป็นมนุษย์ พระคริสต์ทรงทูลวิงวอนและอ้อนวอนด้วยเสียงดังและน้ำพระเนตรไหลต่อพระเจ้าผู้ทรงสามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากความตาย และพระเจ้าทรงโปรดฟังเพราะพระองค์ทรงยำเกรงพระเจ้า.” (ฮีบรู 5:7) พระเยซูทูลวิงวอนและอ้อนวอนพระยะโฮวา และรักษาความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตพระองค์บนแผ่นดินโลก. เพราะความซื่อสัตย์ของพระเยซู พระยะโฮวาปลุกพระบุตรให้เป็นขึ้นจากตายและให้ชีวิตอมตะในสวรรค์แก่พระองค์. เราเองก็สามารถซื่อสัตย์ต่อพระบิดาของเราผู้อยู่ในสวรรค์ได้ไม่ว่าจะพบการทดสอบอย่างไรในอนาคต. ถ้าเรา “ตื่นตัวและเอาใจใส่ในการอธิษฐาน” เราจะได้รับรางวัลอันได้แก่ชีวิตนิรันดร์.