เมื่อมีใครทำให้คุณขุ่นเคือง
เมื่อมีใครทำให้คุณขุ่นเคือง
บ่อยครั้งเราได้ยินคำพูดที่ว่า การแก้แค้นเป็นสิ่งหอมหวาน. นั่นก็เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะรู้สึกไม่พอใจเมื่อมีคนทำให้เราขุ่นเคืองหรือทำร้ายเราทางใดทางหนึ่ง. ความสำนึกเรื่องความถูกต้องที่เรามีมาแต่กำเนิดทำให้เราอยากเห็นความไม่เป็นธรรมได้รับการแก้ไข. คำถามก็คือจะแก้ไขโดยวิธีใด?
การทำให้ขุ่นเคืองมีหลายระดับ มีตั้งแต่การตบ, ผลัก, ดูถูกดูหมิ่นไปจนถึงการด่าทอ, ทำร้ายร่างกาย, ปล้น, และอื่น ๆ. คุณรู้สึกอย่างไรเมื่อใครสักคนทำให้คุณขุ่นเคืองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง? ผู้คนมากมายในทุกวันนี้คงจะรู้สึกทำนองนี้ ‘เขาต้องชดใช้สิ่งที่เขาได้ทำไว้!’
ในสหรัฐ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นจำนวนไม่น้อยยื่นฟ้องต่อศาลโดยแจ้งความเท็จว่าถูกครูทำร้ายเพื่อแก้แค้นครูที่เข้มงวดกวดขันกับพวกเขา. เบรนดา มิตเชลล์ ประธานสหภาพครูแห่งนิวออร์ลีนส์ กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ทันทีที่ถูกกล่าวหา ชื่อเสียงของครูคนนั้นก็เสียไปแล้ว.” แม้ในภายหลังจะมีการพิสูจน์ว่าข้อกล่าวหานั้นไม่เป็นความจริงก็ตาม แต่ความเสียหายก็ยังมีอยู่ต่อไป.
ในที่ทำงาน ลูกจ้างที่ไม่พอใจจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หาวิธีที่จะแก้แค้นนายจ้างโดยทำความเสียหายหรือลบข้อมูลสำคัญในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของบริษัท. บางคนก็ขโมยความลับของบริษัทไปขายหรือให้กับบริษัทอื่น. นอกจากการขโมยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แล้ว หนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ยังรายงานว่า “ยังมีบางคนที่ใช้วิธีเดิม ๆ คือขโมยข้าวของของบริษัทเพื่อเป็นการแก้แค้น.” เพื่อจะรับมือกับการแก้แค้นในวิธีนี้ หลายบริษัทจึงให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่ด้วยและคอยดูขณะลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเก็บข้าวของของตนที่โต๊ะทำงาน แล้วพาออกไปจนพ้นประตูบริษัท.
ที่พบบ่อยที่สุดก็คือการแก้แค้นจากคนที่ใกล้ชิดเรามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง, มิตรสหาย, และสมาชิกครอบครัว. บ่อยครั้งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเนื่องจากคำพูดที่ทำร้ายจิตใจหรือการกระทำที่ไม่ยั้งคิดอาจเป็นเหตุให้คนเราอยากตอบโต้. ถ้าเพื่อนคนหนึ่งพูดกับคุณด้วยน้ำเสียงกระแทกกระทั้น คุณจะโต้กลับด้วยคำพูดเจ็บ ๆ ไหม? ถ้ามีคนหนึ่งในครอบครัวทำให้คุณไม่พอใจเพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง คุณจะหาทางแก้เผ็ดไหม? เป็นเรื่องง่ายสักเพียงไรที่เราจะทำเช่นนั้นเมื่อคนใกล้ชิดทำให้เราขุ่นเคือง!
ผลเสียของการแก้แค้น
บ่อยครั้งคนที่ถูกทำให้ขุ่นเคืองมักหาทางแก้แค้นเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดของตน. ตัวอย่างเช่น คัมภีร์ไบเบิลบอกเราว่าเมื่อพวกลูกชายของยาโคบบรรพบุรุษชาวฮีบรูรู้ว่าเซเค็มชาวคะนาอันได้ข่มขืนดีนาน้องสาวของตน พวกเขาก็ “โทมนัสขัดใจโกรธนัก.” (เยเนซิศ 34:1-7) ลูกชายสองคนของยาโคบจึงวางแผนกำจัดเซเค็มกับครอบครัวเพื่อแก้แค้นที่เขาทำไม่ดีกับน้องสาว. ซิมโอนกับเลวีออกอุบายเพื่อเข้าไปในเมืองของชาวคะนาอันและฆ่าผู้ชายทุกคน รวมทั้งเซเค็มด้วย.—เยเนซิศ 34:13-27
การฆ่าเพื่อล้างแค้นนี้ทำให้เรื่องยุติลงไหม? เมื่อยาโคบรู้ว่าลูกชายได้ทำอะไรลงไป ท่านก็ตำหนิพวกเขาว่า “เจ้ากระทำให้เราลำบากใจ, และให้ชาวเมืองคะนาอันกับชาติฟะริซีเกลียดชังเรา . . . เขาทั้งหลายจะรุมกันมาฆ่าพวกเราเสีย, จะทำให้เราและครอบครัวเราพินาศเสียหมด.” (เยเนซิศ 34:30) ใช่แล้ว แทนที่จะทำให้เรื่องยุติ การแก้แค้นของพวกเขาก่อผลตรงกันข้าม ตอนนี้ครอบครัวของยาโคบต้องคอยระวังการตอบโต้จากชาติเพื่อนบ้านที่โกรธแค้น. ดูเหมือนว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น พระเจ้าจึงสั่งให้ยาโคบพาครอบครัวย้ายไปที่เบทเอล.—เยเนซิศ 35:1, 5
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากดีนาถูกข่มขืนนั้นเน้นบทเรียนที่สำคัญเรื่องหนึ่ง. การแก้แค้นมักจะทำให้เกิดการแก้แค้นตามมาอีกเป็นวัฏจักรที่ไม่จบสิ้น. ดังภาษิตเยอรมันที่ว่า คนที่แก้แค้น ไม่นานก็จะถูกแก้แค้น.
วัฏจักรแห่งความเจ็บปวด
การครุ่นคิดแต่เรื่องที่คนอื่นทำผิดต่อเราและหาวิธีแก้เผ็ดมีแต่จะก่อผลเสีย. หนังสือการให้อภัย—วิธีสร้างสันติกับอดีตของคุณและก้าวเดินต่อไป ให้ข้อสังเกตว่า “ความโกรธแค้นจะกัดกินคุณ. มันกินเวลาและพลังงานของคุณ ขณะที่คุณครุ่นคิดถึงแต่ประสบการณ์ในอดีตอันแสนปวดร้าว ในใจก็แช่งด่าคนที่ทำให้คุณเจ็บปวด และคิดหาวิธีที่จะแก้แค้น.” คัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “ความอิจฉาริษยาคือความเปื่อยเน่าของกระดูก.”—สุภาษิต 14:30
จริงทีเดียว คนเราจะมีความสุขได้อย่างไรถ้าในใจมีแต่ความเกลียดชังและอัดอั้นไปด้วยความรู้สึกไม่ดีต่าง ๆ? นักวิจารณ์คนหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า “ถ้าคุณคิดว่า ‘การแก้แค้น
เป็นสิ่งหอมหวาน’ ก็ลองสังเกตดูหน้าของคนที่จมอยู่กับความแค้นมาเป็นปี ๆ สิ.”คิดดูสิว่าเกิดอะไรขึ้นในหลายส่วนของโลกที่มีความขัดแย้งกันมากทางเชื้อชาติและศาสนา. บ่อยครั้ง การสังหารครั้งหนึ่งทำให้เกิดการสังหารอีกครั้งหนึ่งตามมา ซึ่งมีแต่จะทำให้วัฏจักรแห่งความเกลียดชังและความตายดำเนินต่อไปไม่รู้จบ. ตัวอย่างเช่น เมื่อระเบิดลูกหนึ่งจากการก่อการร้ายสังหารหนุ่มสาว 18 คน หญิงผู้โศกเศร้าคนหนึ่งตะโกนว่า “เราจะเอาคืนจากพวกมันพันเท่า!” เพราะเหตุนี้ ความโหดร้ายทารุณมีแต่จะเพิ่มขึ้น และผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้ง.
“ตาแทนตา”
บางคนบอกว่า คัมภีร์ไบเบิลสนับสนุนความคิดเรื่องการแก้แค้น. พวกเขาพูดว่า “คัมภีร์ไบเบิลบอกไม่ใช่หรือว่า ‘ตาแทนตา ฟันแทนฟัน’?” (เลวีติโก 24:20) เมื่อมองเผิน ๆ กฎหมายที่ว่า “ตาแทนตา” อาจดูเหมือนส่งเสริมการแก้แค้น. แต่จริง ๆ แล้ว กฎหมายข้อนี้ช่วยยับยั้งหรือควบคุมไม่ให้มีการแก้แค้นอย่างไร้สติ. ทำไมจึงกล่าวเช่นนั้น?
ถ้าชาวอิสราเอลคนหนึ่งทำร้ายชาวอิสราเอลอีกคนหนึ่งและทำให้เขาตาบอด พระบัญญัติของโมเซเปิดช่องให้มีการลงโทษอย่างยุติธรรม. แต่ไม่ใช่ผู้เสียหายหรือคนในครอบครัวของเขาจะเป็นผู้ลงโทษ. พระบัญญัติกำหนดไว้ว่าเขาจะต้องแจ้งเรื่องนี้แก่ผู้มีอำนาจ ซึ่งได้แก่ผู้พิพากษาที่ได้รับการแต่งตั้ง เพื่อให้จัดการเรื่องราวอย่างเหมาะสม. การรู้ว่าผู้ที่ฆ่าคนหรือทำความรุนแรงโดยเจตนาต้องรับโทษอย่างเดียวกับที่เขาได้ทำจะช่วยยับยั้งผู้คนไว้จากการแก้แค้นได้เป็นอย่างดี. มีอีกสิ่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องด้วยในเรื่องนี้.
ก่อนที่พระยะโฮวาพระเจ้าจะให้กฎหมายเรื่องการสนองโทษแก่ผู้ที่ทำผิดดังที่กล่าวไปแล้ว พระองค์ได้ตรัสกับชาติอิสราเอลผ่านทางโมเซว่า “อย่าปิดความโกรธต่อพี่น้องไว้ในใจ . . . อย่าแก้แค้นหรือผูกพยาบาทผู้หนึ่งผู้ใด.” (เลวีติโก 19:17, 18) ใช่แล้ว เราควรพิจารณาแนวคิดที่ว่า “ตาแทนตา ฟันแทนฟัน” โดยคำนึงถึงพระบัญญัติทั้งหมด ซึ่งพระเยซูตรัสว่ารวมอยู่ในบัญญัติสองข้อที่ว่า “จงรักพระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าด้วยสุดหัวใจของเจ้า ด้วยสุดชีวิตของเจ้า และด้วยสุดความคิดของเจ้า” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง.” (มัดธาย 22:37-40) ถ้าเช่นนั้น คริสเตียนแท้ควรทำอย่างไรเมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม?
ติดตามแนวทางแห่งสันติสุข
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวว่าพระยะโฮวาเป็น “พระเจ้าแห่งสันติสุข” และสนับสนุนผู้นมัสการพระองค์ให้ “แสวงหาสันติสุขและพยายามสร้างสันติสุข.” (ฮีบรู 13:20; 1 เปโตร 3:11) แต่การทำเช่นนั้นเกิดผลดีจริง ๆ ไหม?
ขณะที่พระเยซูทำงานประกาศสั่งสอนบนแผ่นดินโลก พระองค์ถูกพวกศัตรูถ่มน้ำลายรด, เฆี่ยนตี, ข่มเหง, และถูกสหายสนิททรยศ, กระทั่งถูกสาวกของพระองค์ละทิ้ง. (มัดธาย 26:48-50; 27:27-31) พระองค์ทำเช่นไร? อัครสาวกเปโตรเขียนว่า “เมื่อพระองค์ถูกด่า พระองค์ไม่ได้ด่าตอบ. เมื่อพระองค์ทนทุกข์ทรมาน พระองค์ไม่ได้ขู่ แต่ทรงฝากพระองค์เองไว้กับพระเจ้าผู้ทรงพิพากษาด้วยความชอบธรรม.”—1 เปโตร 2:23
เปโตรอธิบายว่า “พระคริสต์ก็ยังทรงทนทุกข์เพื่อท่านทั้งหลาย ทรงวางแบบอย่างไว้ให้พวกท่านดำเนินตามรอยพระบาทของพระองค์อย่างใกล้ชิด.” (1 เปโตร 2:21) ใช่แล้ว คริสเตียนได้รับการสนับสนุนให้เลียนแบบพระเยซูรวมทั้งสิ่งที่พระองค์ทรงทำเมื่อถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม. พระเยซูเองได้ตรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคำเทศน์บนภูเขาว่า “จงรักศัตรูของเจ้าต่อ ๆ ไปและอธิษฐานเพื่อผู้ที่ข่มเหงเจ้าต่อ ๆ ไป เพื่อแสดงว่าเจ้าเป็นบุตรของพระบิดาผู้สถิตในสวรรค์.”—มัดธาย 5:44, 45
สุภาษิต 19:11 กล่าวว่า “สติปัญญาย่อมทำให้คนไม่โกรธเร็ว, และการไม่ถือโทษนั้นก็เป็นมงคลแก่เขา.” นอกจากนี้ พวกเขาทำตามคำกระตุ้นเตือนที่ว่า “อย่าให้ความชั่วเอาชนะท่าน แต่จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป.” (โรม 12:21) ช่างแตกต่างจากน้ำใจแห่งการแก้แค้นที่มีอยู่แพร่หลายในโลกทุกวันนี้เสียจริง ๆ! ความรักแบบคริสเตียนแท้สามารถช่วยเราให้เอาชนะความรู้สึกอยากแก้แค้น ด้วยเหตุนี้ เราจึง “ไม่ถือโทษ” เพราะความรัก “ไม่จดจำเรื่องที่ทำให้เจ็บใจ.”—1 โครินท์ 13:5
คนที่มีความรักแบบพระคริสต์ทำอย่างไรเมื่อถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจริง ๆ หรือเมื่อเข้าใจว่าถูกกระทำเช่นนั้น?นี่หมายความว่าถ้าเราเป็นเหยื่อของอาชญากรรมหรือถูกข่มขู่คุกคามในทางหนึ่งทางใด เราจะเพียงแต่ทนรับการปฏิบัติเช่นนั้นไหม? ไม่ใช่อย่างนั้นแน่! เมื่อเปาโลกล่าวว่า “จงเอาชนะความชั่วด้วยความดีต่อ ๆ ไป” ท่านไม่ได้หมายความว่า คริสเตียนควรมุ่งแต่จะเป็นผู้สละชีวิตเพื่อความเชื่อเพียงอย่างเดียวโดยไม่ทำอะไร. ตรงกันข้าม เมื่อถูกทำร้าย เรามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเองอย่างแน่นอน. ถ้าร่างกายหรือทรัพย์สินของคุณถูกทำให้เสียหาย คุณก็อาจแจ้งตำรวจได้. ถ้าคุณมีปัญหาในที่ทำงานหรือที่โรงเรียน คุณก็อาจไปหาผู้มีอำนาจดูแลเพื่อขอความช่วยเหลือ.—โรม 13:3, 4
กระนั้นก็ตาม นับว่าดีที่จะจำไว้เสมอว่าความยุติธรรมแท้ไม่อาจจะหาได้ง่าย ๆ ในระบบนี้. ที่จริง หลายคนได้ใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อเสาะหาความยุติธรรมแท้ แต่แล้วก็ต้องพบกับความขื่นขมและโกรธเคืองเมื่อไม่ได้รับตามที่หวังไว้.
ไม่มีอะไรทำให้ซาตานชอบใจมากไปกว่าการได้เห็นผู้คนแตกแยกเนื่องจากการแก้แค้นและเกลียดชังกัน. (1 โยฮัน 3:7, 8) คงจะดีกว่ามากสักเพียงไรที่จะจดจำคำกล่าวของคัมภีร์ไบเบิลไว้ที่ว่า “พี่น้องที่รัก อย่าแก้แค้นเสียเอง แต่ให้พระเจ้าเป็นผู้สำแดงพระพิโรธ เพราะมีคำเขียนไว้ดังนี้ ‘พระยะโฮวาตรัสว่า การแก้แค้นเป็นธุระของเรา เราจะตอบแทน.’ ” (โรม 12:19) เมื่อเราฝากเรื่องต่าง ๆ ไว้กับพระยะโฮวา เราก็จะหลุดพ้นจากความปวดร้าวใจ, ความโกรธแค้น, และความรุนแรง.—สุภาษิต 3:3-6
[คำโปรยหน้า 22]
“จงรักพระยะโฮวา พระเจ้าของเจ้าด้วยสุดหัวใจของเจ้าด้วยสุดชีวิตของเจ้า และ ด้วยสุดความคิดของเจ้า” และ “จงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง”
[ภาพหน้า 23]
ความรัก “ไม่จดจำเรื่องที่ทำให้เจ็บใจ.”—1 โครินท์ 13:5