ประชาชนที่รักสันติปกป้องชื่อเสียงของตนเอง
ถึงประชาชนชาวรัสเซีย: บทความต่อไปนี้จะทำให้หลายสิบล้านคนใน 230 กว่าดินแดนได้รับรู้ว่ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยไม่มีเหตุอันควรในรัสเซีย. วารสารหอสังเกตการณ์ เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีการแปลและแจกจ่ายมากที่สุดในโลก. บทความนี้จะแปลเป็นภาษาต่าง ๆ 188 ภาษาและตีพิมพ์ลงในวารสารมากกว่า 40 ล้านเล่ม. เจ้าหน้าที่ระดับสูงบางคนอาจไม่ต้องการให้ประชาคมโลกรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับพยานพระยะโฮวาในรัสเซีย. แต่คำตรัสของพระเยซูจะต้องเป็นจริงที่ว่า “ไม่มีอะไรที่ปกปิดไว้อย่างมิดชิดจะไม่ถูกเปิดเผย และไม่มีความลับซึ่งจะไม่มีใครรู้.”—ลูกา 12:2
ในเดือนธันวาคม 2009 และมกราคม 2010 ศาลสูงสองแห่งของรัสเซียได้ประกาศว่าความเชื่อทางศาสนาของพยานพระยะโฮวาเป็นแนวคิดแบบพวกหัวรุนแรง. ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอย. ในสมัยที่โซเวียตปกครองรัสเซีย พยานพระยะโฮวาหลายพันคนถูกใส่ความว่าเป็นศัตรูต่อประเทศชาติ. พวกเขาถูกเนรเทศ ถูกจำคุก และถูกบังคับให้ทำงานหนักในค่ายกักกันแรงงาน. หลังจากโซเวียตล่มสลาย พยานพระยะโฮวาได้รับการประกาศให้พ้นผิดทุกข้อกล่าวหา. คำประกาศอย่างเป็นทางการของรัฐบาลใหม่ได้ช่วยกอบกู้ชื่อเสียงที่ดีของพวกเขา. * แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่ามีคนบางกลุ่มพยายามใส่ร้ายพยานฯ อีก.
ตอนต้นปี 2009 พวกเจ้าหน้าที่ได้เริ่มโจมตีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพยานพระยะโฮวา. ในเดือนกุมภาพันธ์เพียงเดือนเดียว อัยการได้ดำเนินการไต่สวนคดีความต่าง ๆ มากกว่า 500 คดีทั่วประเทศ. เป้าหมายของพวกเขาคืออะไร? ก็เพื่อจะชี้ว่าพยานฯ ได้ทำสิ่งที่ฝ่าฝืนกฎหมาย. หลายเดือนต่อมา ตำรวจได้บุกเข้าไปในหอประชุมราชอาณาจักรและบ้านส่วนตัวขณะที่พยานฯ กำลังประชุมกันอย่างสงบ. ตำรวจได้ยึดหนังสือและทรัพย์สินส่วนตัวของพวกเขา. พวกเจ้าหน้าที่ได้เนรเทศทนายความต่างชาติที่ให้ความช่วยเหลือแก่พยานพระยะโฮวาและห้ามพวกเขากลับเข้าประเทศอีก.
วันที่ 5 ตุลาคม 2009 เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ยึดหนังสือและคู่มือการศึกษาคัมภีร์ไบเบิลซึ่งส่งมาทางเรือบริเวณชายแดนใกล้กับเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก. หนังสือเหล่านี้พิมพ์ที่เยอรมนีและกำลังจะถูกส่งไปยังประชาคมต่าง ๆ ทั่วรัสเซีย. เจ้าหน้าที่ศุลกากรหน่วยพิเศษของรัสเซียซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบสิ่งของต้องห้ามที่เป็นอันตรายได้ตรวจสอบหนังสือเหล่านี้. ทำไม? เอกสารของทางการฉบับหนึ่งระบุว่าหนังสือที่ส่งมานี้ “อาจมีเนื้อหาที่มุ่งหวังให้เกิดการแตกแยกทางศาสนา.”
ไม่ช้าการก่อกวนที่มาเป็นระลอกก็ทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤติ. ศาลฎีกาแห่งสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐอัลไต (ส่วนหนึ่งของรัสเซีย) ได้ประกาศว่าหนังสือจำนวนหนึ่งที่พยานฯ ใช้ รวมถึงวารสารที่คุณกำลังอ่านอยู่นี้ส่งเสริมแนวคิดแบบพวกหัวรุนแรง. พยานพระยะโฮวาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล และประชาคมโลกพากันแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น! ไม่นานมานี้ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดยืนตามศาลชั้นต้นและประกาศว่าการนำเข้าและแจกจ่ายหนังสือและคู่มือศึกษาคัมภีร์ไบเบิลเหล่านั้นในรัสเซียเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย.
พยานฯ จะตอบโต้อย่างไรเมื่อมีการพยายามทำลายชื่อเสียงและจำกัดกิจกรรมทางศาสนาของพวกเขา? และคำพิพากษาตัดสินของศาลจะมีความหมายอย่างไรต่อเสรีภาพทางศาสนาของประชาชนชาวรัสเซียทั้งประเทศ?
ตอบโต้ทันทีเมื่อถูกคุกคามหนักขึ้น
วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2010 พยานพระยะโฮวาประมาณ 160,000 คนทั่วรัสเซียได้เริ่มแจกจ่ายใบปลิวพิเศษ 12 ล้านใบซึ่งมีชื่อว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยไหม? คำถามสำหรับประชาชนชาวรัสเซีย. ตัวอย่างเช่น ในเมืองอูโซลเย-ซีบีร์สโคเยของไซบีเรีย พยานฯ หลายร้อยคนมารวมตัวกันตามถนนสายต่าง ๆ ตอนเช้าตรู่เวลา 5:30 น. พวกเขาบางคนถูกเนรเทศมาที่ไซบีเรียตั้งแต่ปี 1951 เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาของตน. พวกเขาต้องสู้กับสภาพอากาศที่หนาวจัดถึงลบ 40 องศาเซลเซียสเพื่อแจกจ่ายใบปลิวจำนวน 20,000 ใบที่พวกเขาได้รับมา.
พยานพระยะโฮวาได้จัดแถลงข่าวในกรุงมอสโกเมืองหลวงของรัสเซีย เพื่อประกาศข่าวการรณรงค์แจกจ่ายใบปลิวเป็นเวลาสามวัน. แขกคนหนึ่งที่ได้รับเชิญให้ขึ้นพูดในการแถลงข่าวคือมิสเตอร์เลฟ เลวินซอน ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันสิทธิมนุษยชน. เขาเล่าสั้น ๆ ถึงการก่อกวนและการกดขี่ข่มเหงพยานพระยะโฮวาในเยอรมนียุคนาซีและในยุคที่สหภาพโซเวียตปกครองอยู่ และกล่าวว่าในเวลาต่อมาทางการได้ประกาศให้พยานพระยะโฮวาพ้นจากความรับผิดชอบทุกประการ. เขายังกล่าวด้วยว่า “ประธานาธิบดีเยลซินได้สั่งให้ทางการประกาศรับรองการกลับสู่สถานภาพเดิมของ
ศาสนิกชนทุกกลุ่มที่เคยถูกข่มเหงในยุคโซเวียตและคืนทรัพย์สินทุกอย่างให้แก่พวกเขา. พยานพระยะโฮวาไม่ได้รับทรัพย์สินใด ๆ ที่พวกเขาเคยมีในสมัยโซเวียตคืนมาเลย เว้นแต่ชื่อเสียงที่ดีของพวกเขา เท่านั้นที่ได้รับกลับคืนมา.”บัดนี้ชื่อเสียงที่ดีของพวกเขากำลังถูกโจมตีอีกครั้ง. มิสเตอร์เลวินซอนกล่าวว่า “ในประเทศเดียวกันนี้ที่เคยแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่ผ่านมา บัดนี้ประชาชนกำลังถูกข่มเหงอย่างไร้เหตุผลโดยสิ้นเชิง.”
การรณรงค์ที่ได้รับการตอบรับด้วยดี
การรณรงค์แจกจ่ายใบปลิวครั้งนี้บรรลุเป้าหมายไหม? มิสเตอร์เลวินซอนกล่าวว่า “ระหว่างที่เดินทางมาร่วมแถลงข่าว ผมเห็นคนในรถไฟใต้ดินนั่งอ่านใบปลิวที่พยานพระยะโฮวากำลังแจกจ่ายไปทั่วรัสเซีย. . . . ผู้คนนั่งอ่านกันอย่างตั้งอกตั้งใจเลยทีเดียว.” * ขอให้สังเกตประสบการณ์ต่อไปนี้ซึ่งยืนยันคำพูดของเขา.
หญิงสูงอายุคนหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมทางตอนกลางของรัสเซียได้รับใบปลิวแผ่นหนึ่ง และเธอถามว่าเป็นใบปลิวเกี่ยวกับอะไร. เมื่อได้รับคำตอบว่าใบปลิวนี้พูดถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในรัสเซีย เธอก็ร้องออกมาว่า “ในที่สุดก็มีคนยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด! ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัสเซียกำลังถอยกลับไปสู่ยุคสหภาพโซเวียต. ขอบคุณมาก. พวกคุณทำดีแล้ว!”
ผู้หญิงคนหนึ่งในเมืองคีลยาบิงสก์บอกกับพยานฯ ที่ยื่นใบปลิวให้เธอว่า “ฉันได้อ่านใบปลิวนี้แล้ว. ฉันเห็นด้วยกับพวกคุณเต็มที่. ฉันไม่เคยเห็นศาสนาไหนปกป้องความเชื่อของตนด้วยวิธีที่เป็นระเบียบอย่างนี้. ฉันชอบที่พวกคุณแต่งตัวเรียบร้อยและพูดจาสุภาพเสมอ. เห็นได้ชัดว่าพวกคุณมีความเชื่อศรัทธามากจริง ๆ. ฉันรู้สึกได้ว่าพระเจ้าอยู่กับพวกคุณ.”
ผู้ชายคนหนึ่งในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กบอกว่าเขาได้รับใบปลิวแล้ว. เมื่อ
พยานฯ ถามว่าเขาชอบเรื่องที่ได้อ่านไหม เขาตอบว่า “ชอบครับ. ตอนที่อ่านใบปลิวผมรู้สึกขนลุกและถึงกับร้องไห้ออกมา.” ยายของผมเคยถูกกักขัง [ในสมัยรัฐบาลโซเวียต] และท่านเคยเล่าเรื่องของคนที่ถูกขังรวมกับท่านให้ผมฟังหลายเรื่อง. หลายคนเป็นอาชญากร แต่บางคนก็เป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกคุมขังเพราะความเชื่อทางศาสนา. ผมคิดว่าทุกคนควรได้รับรู้เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น ฉะนั้น สิ่งที่พวกคุณทำอยู่นี้ถูกต้องแล้ว.”อนาคตของผู้คนในรัสเซียจะเป็นอย่างไร?
พยานพระยะโฮวาถือว่าเสรีภาพในระดับหนึ่งที่พวกเขาได้รับตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมาเป็นสิ่งที่มีค่ามาก. ถึงกระนั้น พวกเขาก็รู้ว่าเสรีภาพอาจถูกลิดรอนไปได้โดยง่าย. ไม่ว่าการใส่ร้ายระลอกใหม่นี้จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ารัสเซียกำลังถอยกลับไปสู่ยุคแห่งการกดขี่ข่มเหงอีกครั้งหรือไม่ เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้.
อย่างไรก็ตาม พยานพระยะโฮวาตั้งใจแน่วแน่ว่าจะทำงานประกาศข่าวแห่งสันติสุขและความหวังจากคัมภีร์ไบเบิลให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม. ใบปลิวพิเศษได้สรุปเจตนารมณ์ของพวกเขาไว้ดังนี้: “การกดขี่ข่มเหงจะไม่มีวันชนะเราได้. เราจะไม่หยุดพูดด้วยความนับถือและผ่อนหนักผ่อนเบาเกี่ยวกับพระยะโฮวาและคัมภีร์ไบเบิล พระคำของพระองค์. (1 เปโตร 3:15) เราไม่หยุดพูดเมื่อถูกข่มเหงอย่างทารุณโดยพวกนาซีในเยอรมนี เราไม่หยุดพูดเมื่อเกิดการกดขี่ข่มเหงอย่างหนักในประเทศของเรา และตอนนี้เราก็จะไม่หยุดพูดเช่นกัน.—กิจการ 4:18-20.”
^ วรรค 13 พยานพระยะโฮวาในมอสโกเริ่มแจกจ่ายใบปลิวก่อนการแถลงข่าวหลายชั่วโมง.