ข้ามไปยังเนื้อหา

ข้ามไปยังสารบัญ

คัมภีร์ไบเบิลฉบับแปลโลกใหม่ (ฉบับศึกษา)

ก​1

หลักในการแปลคัมภีร์ไบเบิล

คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​ขึ้น​ด้วย​ภาษา​ฮีบรู ภาษา​อาราเมอิก และ​ภาษา​กรีก​โบราณ ทุก​วัน​นี้ มี​คัมภีร์​ไบเบิล​ทั้ง​แบบ​ครบ​ชุด​และ​บาง​ส่วน​มาก​กว่า 3,000 ภาษา เนื่อง​จาก​คน​ส่วน​ใหญ่​ที่​อ่าน​คัมภีร์​ไบเบิล​ไม่​เข้าใจ​ภาษา​ต้น​ฉบับ พวก​เขา​จึง​ต้อง​อ่าน​จาก​ฉบับ​ที่​แปล​แล้ว ผู้​แปล​ควร​ใช้​หลัก​อะไร​ใน​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล? และ​มี​การ​ใช้​หลัก​เหล่า​นี้​อย่าง​ไร​เมื่อ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่?

บาง​คน​คิด​ว่า​การ​แปล​แบบ​ตรง​ตัว​หรือ​แปล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​น่า​จะ​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ได้​ใกล้​เคียง​กับ​ภาษา​ต้น​ฉบับ​มาก​ที่​สุด แต่​ก็​ไม่​เป็น​อย่าง​นั้น​เสมอ​ไป ขอ​ให้​ดู​เหตุ​ผล​บาง​อย่าง​ต่อ​ไป​นี้

  • ไม่​มี​ภาษา​ไหน​ที่​มี​ไวยากรณ์ คำ​ศัพท์ และ​โครง​สร้าง​ประโยค​เหมือน​กัน​ทุก​อย่าง ศาสตราจารย์​ด้าน​ภาษา​ฮีบรู​ชื่อ​เอส. อาร์. ไดรเวอร์ เขียน​ไว้​ว่า แต่​ละ​ภาษา “ไม่​ได้​ต่าง​กัน​ที่​ไวยากรณ์​และ​รากศัพท์​เท่า​นั้น แต่​ยัง​ต่าง​กัน . . . ที่​การ​เรียบเรียง​ความ​คิด​ออก​มา​เป็น​ประโยค​ด้วย” คน​ที่​พูด​ภาษา​ต่าง​กัน​มี​วิธี​คิด​แตกต่าง​กัน ศาสตราจารย์​ไดรเวอร์​อธิบาย​ต่อ​ว่า “เพราะ​อย่าง​นี้ โครง​สร้าง​ประโยค​ของ​แต่​ละ​ภาษา​จึง​ไม่​เหมือน​กัน”

  • เนื่อง​จาก​ใน​ทุก​วัน​นี้​ไม่​มี​ภาษา​ไหน​ที่​มี​คำ​ศัพท์​และ​ลักษณะ​ไวยากรณ์​เหมือน​กัน​ทุก​อย่าง​กับ​ภาษา​ฮีบรู ภาษา​อาราเมอิก และ​ภาษา​กรีก​ที่​ใช้​เขียน​คัมภีร์​ไบเบิล การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​จึง​ไม่​สามารถ​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ได้​ชัดเจน​และ​อาจ​ถึง​กับ​ทำ​ให้​เข้าใจ​ผิด

  • ความ​หมาย​ของ​คำ​หรือ​สำนวน​อาจ​เปลี่ยน​ไป​ได้​ตาม​ท้อง​เรื่อง

ใน​บาง​ท้อง​เรื่อง ผู้​แปล​อาจ​แปล​ตรง​ตัว​ตาม​ต้น​ฉบับ​ได้ แต่​ก็​ต้อง​ทำ​อย่าง​ระมัดระวัง

ต่อ​ไป​นี้​เป็น​ตัว​อย่าง​ที่​แสดง​ว่า​การ​แปล​แบบ​คำ​ต่อ​คำ​อาจ​ทำ​ให้​เข้าใจ​ผิด​ได้

  • ใน​พระ​คัมภีร์ คำ​ที่​แปล​ตรง​ตัว​ว่า “หลับ” อาจ​หมาย​ถึง​การ​นอน​หลับ​จริง ๆ หรือ​หมาย​ถึง​การ​ตาย​ก็​ได้ (มัทธิว 28:13; กิจการ 7:60, เชิงอรรถ) ถ้า​ท้อง​เรื่อง​ไหน​หมาย​ถึง​การ​ตาย ผู้​แปล​พระ​คัมภีร์​อาจ​แปล​ว่า “ตาย” เพื่อ​ให้​ผู้​อ่าน​เข้าใจ​ชัดเจน—1 โครินธ์ 7:39; 1 เธสะโลนิกา 4:13; 2 เปโตร 3:4

  • ที่​เอเฟซัส 4:14 อัครสาวก​เปาโล​ใช้​สำนวน​หนึ่ง​ซึ่ง​แปล​ตรง​ตัว​ได้​ว่า “ใน​การ​เล่น​ลูก​เต๋า​ของ​มนุษย์” สำนวน​โบราณ​นี้​ทำ​ให้​คิด​ถึง​การ​โกง​คน​อื่น​โดย​ใช้​ลูก​เต๋า แต่​ใน​ภาษา​ส่วน​ใหญ่​การ​แปล​ตรง​ตัว​แบบ​นี้​ไม่​สื่อ​ความ​หมาย​อะไร คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​จึง​แปล​สำนวน​นี้​ว่า “อุบาย​ล่อ​ลวง​ของ​มนุษย์” ซึ่ง​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ได้​ชัดเจน​กว่า

  • ที่​โรม 12:11 มี​การ​ใช้​สำนวน​ภาษา​กรีก​ที่​มี​ความ​หมาย​ตรง​ตัว​ว่า “ใจ​ที่​เดือด​พล่าน” แต่​ใน​ภาษา​ไทย​การ​แปล​แบบ​นี้​ไม่​ได้​สื่อ​ความ​หมาย​ตรง​ตาม​ต้น​ฉบับ คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​จึง​แปล​สำนวน​นี้​ว่า “ใจ​กระตือรือร้น”

  • มัทธิว 5:3

    แปล​ตรง​ตัว​ว่า “คน​ที่​ยาก​จน​ด้าน​จิตวิญญาณ”

    มี​ความ​หมาย​ว่า “คน​ที่​รู้​ตัว​ว่า​จำเป็น​ต้อง​พึ่ง​พระเจ้า”

    ใน​คำ​บรรยาย​บน​ภูเขา​ที่​มี​ชื่อเสียง​ของ​พระ​เยซู มี​สำนวน​หนึ่ง​ที่​คัมภีร์​ไบเบิล​บาง​ฉบับ​แปล​ว่า “คน​ที่​ยาก​จน​ด้าน​จิตวิญญาณ​ก็​เป็น​สุข” (มัทธิว 5:3, พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์ ฉบับ​มาตรฐาน) แต่​ใน​หลาย​ภาษา การ​แปล​สำนวน​นี้​แบบ​ตรง​ตัว​สื่อ​ความ​หมาย​ไม่​ชัดเจน ใน​ข้อ​นี้​พระ​เยซู​กำลัง​สอน​ประชาชน​ว่า​ความ​สุข​ไม่​ได้​เกิด​จาก​การ​มี​ทรัพย์​สมบัติ​เงิน​ทอง แต่​เกิด​จาก​การ​ยอม​รับ​ว่า​คน​เรา​จำเป็น​ต้อง​ได้​รับ​การ​ชี้​นำ​จาก​พระเจ้า (ลูกา 6:20) ดัง​นั้น การ​แปล​ว่า “คน​ที่​รู้​ตัว​ว่า​จำเป็น​ต้อง​พึ่ง​พระเจ้า” หรือ “คน​ที่​รู้​ตัว​ว่า​ต้องการ​พระเจ้า” จึง​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ได้​ตรง​กับ​ต้น​ฉบับ​มาก​กว่า—มัทธิว 5:3, พระ​คริสตธรรม​คัมภีร์ ฉบับ​อ่าน​เข้าใจ​ง่าย

  • ใน​หลาย​ท้อง​เรื่อง คำ​ภาษา​ฮีบรู​ที่​แปล​ว่า “หึง​หวง” หรือ “อิจฉา” มี​ความ​หมาย​ตรง​กับ​คำ​ใน​ภาษา​ไทย​ที่​หมาย​ถึง การ​โกรธ​คน​ใกล้​ชิด​ที่​ไม่​ซื่อ​สัตย์​หรือ​การ​ไม่​พอ​ใจ​ที่​คน​อื่น​มี​ทรัพย์​สมบัติ (สุภาษิต 6:34; อิสยาห์ 11:13) แต่​คำ​ภาษา​ฮีบรู​เดียว​กัน​นี้​ก็​มี​ความ​หมาย​ใน​แง่​ดี​ด้วย เช่น หมาย​ถึง​ความ​รู้สึก​แรง​กล้า​ของ​พระ​ยะโฮวา​ที่ “ตั้งใจ” จะ​ปก​ป้อง​ผู้​รับใช้​ของ​พระองค์ และ​ต้องการ​ให้​พวก​เขา “นมัสการ​พระองค์​เพียง​ผู้​เดียว” (อพยพ 34:14; 2 พงศ์กษัตริย์ 19:31; เอเสเคียล 5:13; เศคาริยาห์ 8:2) และ​ยัง​อาจ​หมาย​ถึง “ความ​รัก​แรง​กล้า” ซึ่ง​ผู้​รับใช้​ที่​ซื่อ​สัตย์​มี​ต่อ​พระเจ้า​และ​ต่อ​การ​นมัสการ​พระองค์ หรือ​หมาย​ถึง​การ ‘ไม่​ยอม​ให้​ใคร​ทำ​ตัว​ไม่​ซื่อ​สัตย์’ ต่อ​พระองค์—สดุดี 69:9; 119:139; กันดารวิถี 25:11

  • คำ​ฮีบรู ยาด มัก​จะ​แปล​ว่า “มือ” แต่​คำ​นี้​อาจ​แปล​ได้​ว่า “อำนาจ” ‘การ​ให้​อย่าง​มาก​มาย’ หรือ​อื่น ๆ แล้ว​แต่​ท้อง​เรื่อง

    คำ​ฮีบรู​ที่​มัก​จะ​แปล​ว่า “มือ” อาจ​มี​ความ​หมาย​หลาย​อย่าง​ขึ้น​อยู่​กับ​ท้อง​เรื่อง เช่น “อำนาจ” หรือ ‘การ​ให้​อย่าง​มาก​มาย’ (2 ซามูเอล 8:3; 1 พงศ์กษัตริย์ 10:13; สุภาษิต 18:21) ดัง​นั้น คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่ ภาษา​ไทย​จึง​แปล​คำ​นี้​ไว้​หลาย​อย่าง

เนื่อง​จาก​เหตุ​ผล​เหล่า​นี้ ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​จึง​ไม่​สามารถ​แปล​คำ​หนึ่ง​แบบ​เดิม​ทุก​ครั้ง​ได้ แต่​ต้อง​คิด​ให้​ดี​เพื่อ​จะ​เลือก​คำ​แปล​ที่​ถ่ายทอด​ความ​หมาย​ได้​ตรง​กับ​ต้น​ฉบับ​มาก​ที่​สุด นอก​จาก​นี้ ผู้​แปล​ยัง​ต้อง​เรียบเรียง​ประโยค​ให้​ถูก​ต้อง​ตาม​หลัก​ไวยากรณ์​เพื่อ​ให้​อ่าน​เข้าใจ​ง่าย​ด้วย

ใน​อีก​ด้าน​หนึ่ง ผู้​แปล​ไม่​ควร​ปรับ​ข้อ​ความ​จน​เกิน​พอ​ดี ถ้า​เขา​แปล​แบบ​อิสระ​มาก​เกิน​ไป​หรือ​ตี​ความ​ตาม​ความ​เข้าใจ​ของ​ตัว​เอง ก็​จะ​ทำ​ให้​ความ​หมาย​ของ​ข้อ​ความ​ผิด​เพี้ยน​ไป​ได้ เพราะ​เขา​อาจ​ใส่​ความ​คิด​ที่​ผิด ๆ ของ​ตัว​เอง​ลง​ไป​หรือ​ตัด​ราย​ละเอียด​สำคัญ​บาง​อย่าง​ที่​มี​ใน​ต้น​ฉบับ​ออก​ไป การ​แปล​แบบ​อิสระ​นี้​อาจ​ช่วย​ให้​อ่าน​เข้าใจ​ง่าย แต่​ทำ​ให้​ผู้​อ่าน​ไม่​เข้าใจ​ความ​หมาย​ที่​แท้​จริง​ของ​พระ​คัมภีร์

ความ​เชื่อ​ส่วน​ตัว​ของ​ผู้​แปล​ใน​หลัก​คำ​สอน​บาง​อย่าง​อาจ​ทำ​ให้​การ​แปล​ผิด​เพี้ยน​ไป​ได้ ตัว​อย่าง​เช่น มัทธิว 7:13 บอก​ว่า “ทาง​ที่​กว้าง​ใหญ่​นั้น​นำ​ไป​ถึง​ความ​พินาศ” แต่​เนื่อง​จาก​ผู้​แปล​บาง​คน​มี​ความ​เชื่อ​ส่วน​ตัว​บาง​อย่าง พระ​คัมภีร์​บาง​ฉบับ​จึง​ใช้​คำ​ว่า “นรก” แทน​ที่​จะ​ใช้​คำ​ว่า “ความ​พินาศ” ซึ่ง​เป็น​ความ​หมาย​จริง ๆ ของ​คำ​ภาษา​กรีก​คำ​นี้

ผู้​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ต้อง​จำ​ไว้​ด้วย​ว่า แต่​เดิม​คัมภีร์​ไบเบิล​เขียน​ขึ้น​ด้วย​ภาษา​ที่​คน​ธรรมดา เช่น ชาว​ไร่ ชาว​นา คน​เลี้ยง​แกะ และ​ชาว​ประมง​ใช้​กัน​ใน​ชีวิต​ประจำ​วัน (เนหะมีย์ 8:8, 12; กิจการ 4:13) ฉบับ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ที่​ดี​จึง​ต้อง​ช่วย​ให้​คน​ที่​อยาก​รู้​ความ​จริง​สามารถ​เข้าใจ​ข่าวสาร​ของ​พระ​คัมภีร์​ได้ ไม่​ว่า​พวก​เขา​จะ​มี​ภูมิหลัง​อย่าง​ไร ดัง​นั้น ผู้​แปล​ควร​ใช้​คำ​ธรรมดา​ที่​ชัดเจน​และ​เข้าใจ​ง่าย ไม่​ใช่​คำ​ที่​คน​ทั่ว​ไป​ไม่​ค่อย​ใช้​กัน

มี​ผู้​แปล​หลาย​คน​ตัด​ชื่อ ยะโฮวา ซึ่ง​เป็น​ชื่อ​ของ​พระเจ้า​ออก​จาก​ฉบับ​แปล​สมัย​ใหม่​อย่าง​ไม่​สม​ควร ทั้ง ๆ ที่​ชื่อ​นี้​มี​อยู่​ใน​สำเนา​คัมภีร์​ไบเบิล​สมัย​โบราณ (ดู​ภาค​ผนวก ก​4) คัมภีร์​ไบเบิล​หลาย​ฉบับ​ใช้​ตำแหน่ง “องค์​พระ​ผู้​เป็น​เจ้า” แทน​ชื่อ​พระเจ้า และ​บาง​ฉบับ​ถึง​กับ​ทำ​ให้​คน​อ่าน​ไม่​รู้​ด้วย​ซ้ำ​ว่า​พระเจ้า​มี​ชื่อ ตัว​อย่าง​เช่น ฉบับ​แปล​บาง​ฉบับ​ได้​แปล​คำ​อธิษฐาน​ของ​พระ​เยซู​ที่​ยอห์น 17:26 ว่า “ข้า​พระองค์​ได้​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้​จัก​พระองค์” และ​แปล​ยอห์น 17:6 ว่า “ข้า​พระองค์​ได้​สำแดง​พระองค์​แก่​บรรดา​คน​ที่​พระองค์​ประทาน​แก่​ข้า​พระองค์​จาก​โลก​นี้” แต่​คำ​แปล​ที่​ถูก​ต้อง​ตาม​ต้น​ฉบับ​คือ “ผม​ทำ​ให้​พวก​เขา​รู้​จัก​ชื่อ​ของ​พระองค์ แล้ว” และ “คน​ที่​พระองค์​แยก​ออก​จาก​โลก​นี้​และ​ยก​ให้​ผม ผม​ช่วย​พวก​เขา​ให้​รู้​จัก​ชื่อ​ของ​พระองค์ แล้ว”

ใน​คำนำ​ของ​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่​ภาษา​อังกฤษ​ฉบับ​แรก​เขียน​ว่า “เรา​ไม่​ได้​แปล​พระ​คัมภีร์​แบบ​ตี​ความ ถ้า​มี​สำนวน​ภาษา​อังกฤษ​สมัย​ใหม่​ที่​ใช้​ได้​และ​ไม่​ทำ​ให้​ความ​หมาย​กำกวม​หรือ​ฟัง​แปลก เรา​ก็​พยายาม​แปล​ตรง​ตัว​เท่า​ที่​จะ​ทำ​ได้” ดัง​นั้น คณะ​กรรมการ​การ​แปล​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​แปล​โลก​ใหม่​พยายาม​แปล​พระ​คัมภีร์​ให้​ตรง​กับ​ภาษา​ต้น​ฉบับ แต่​ก็​หลีก​เลี่ยง​การ​ใช้​คำ​และ​สำนวน​ที่​ฟัง​แปลก​หรือ​มี​ความ​หมาย​กำกวม ทำ​ให้​คัมภีร์​ไบเบิล​ฉบับ​นี้​อ่าน​ง่าย​และ​ผู้​อ่าน​สามารถ​มั่น​ใจ​ได้​ว่า​มี​การ​ถ่ายทอด​ข้อ​ความ​ที่​ได้​รับ​การ​ดล​ใจ​อย่าง​ซื่อ​สัตย์—1 เธสะโลนิกา 2:13