เขียนโดยมัทธิว 1:1-25
ข้อมูลสำหรับศึกษา
มัทธิว: ชื่อกรีกที่แปลว่า “มัทธิว” อาจเป็นชื่อแบบสั้นของ “มัททีธิยาห์” ในภาษาฮีบรู (1พศ 15:18) ชื่อนี้มีความหมายว่า “ของขวัญจากพระยะโฮวา”
ข่าวดีที่เขียนโดยมัทธิว: ไม่มีผู้เขียนคนไหนบอกว่าตัวเขาเป็นคนเขียนและดูเหมือนว่าไม่มีชื่อหนังสืออยู่ในข้อความต้นฉบับ ในบางสำเนาของหนังสือข่าวดีของมัทธิวใช้ชื่อหนังสือว่า อืออางเกะลิออน คาธา มาทไธออน (“ข่าวดี [หรือ “กิตติคุณ”] ที่เขียนโดยมัทธิว”) แต่ในบางสำเนาก็ใช้ชื่อแบบสั้นว่า คาธา มาทไธออน (“เขียนโดยมัทธิว”) ไม่มีใครรู้ชัดเจนว่าชื่อหนังสือถูกเพิ่มเข้ามาเมื่อไรหรือเริ่มใช้ตอนไหน บางคนคิดว่าน่าจะประมาณศตวรรษที่ 2 เพราะมีการพบชื่อหนังสือแบบยาวในสำเนาของหนังสือข่าวดีที่ทำขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 2 หรือต้นศตวรรษที่ 3 นักวิชาการบางคนบอกว่า การที่หนังสือเหล่านั้นถูกเรียกว่ากิตติคุณ (แปลตรงตัวว่า “ข่าวดี”) อาจเป็นเพราะมีคำนี้อยู่ในข้อความแรกของหนังสือมาระโก (“ต่อไปนี้คือตอนเริ่มต้นของข่าวดีเกี่ยวกับพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นลูกของพระเจ้า”) นอกจากนั้น อาจมีการใช้ชื่อหนังสือที่ระบุชื่อคนเขียนด้วยเหตุผลที่ดีบางอย่าง เช่น ทำให้รู้ชัดว่าใครเป็นคนเขียน
หนังสือประวัติ: ข้อความแรกของมัทธิวในภาษากรีกคือ บิบล็อส เกะเนะเซออส (รูปคำหนึ่งของ เกะเนะซิส) อาจแปลได้ด้วยว่า “บันทึกทางประวัติศาสตร์” หรือ “บันทึกรายชื่อบรรพบุรุษ” คำกรีก เกะเนะซิส แปลตรงตัวว่า “ต้นกำเนิด, การเกิด, เชื้อสาย” ในฉบับเซปตัวจินต์ มีการใช้คำกรีก เกะเนะซิส เพื่อแปลคำฮีบรู ทอเลดอท ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน และในหนังสือปฐมกาล มักมีการแปลคำฮีบรู ทอเลดอท ว่า “ประวัติ” “เรื่องราว” หรือ “เหตุการณ์”—ปฐก 2:4; 5:1; 6:9; 10:1; 11:10, 27; 25:12, 19; 36:1, 9; 37:2
ประวัติของพระเยซูคริสต์: มัทธิวลำดับเชื้อสายของพระเยซูทางโซโลมอนลูกชายของดาวิด แต่ลูกาลำดับเชื้อสายของพระเยซูทางนาธันลูกชายอีกคนของดาวิด (มธ 1:6, 7; ลก 3:31) วิธีลำดับเชื้อสายของมัทธิวทำให้รู้ว่าโดยทางโยเซฟ พระเยซูมีสิทธิ์ตามกฎหมายที่จะได้ครองบัลลังก์ของดาวิด เพราะโยเซฟเป็นลูกหลานของโซโลมอนและเป็นพ่อตามกฎหมายของพระเยซู ส่วนลูกาลำดับเชื้อสายของพระเยซูทางบรรพบุรุษของมารีย์ ซึ่งช่วยให้รู้ว่าพระเยซูเป็นลูกหลานของดาวิดทางสายเลือด
คริสต์: เป็นตำแหน่งซึ่งมาจากคำกรีก ฆะริสท็อส และมีความหมายเดียวกับคำว่า “เมสสิยาห์” (มาจากคำฮีบรู มาชีอัค) ทั้งสองคำแปลว่า “ผู้ถูกเจิม” ในสมัยคัมภีร์ไบเบิลมีการแต่งตั้งผู้ปกครองหรือผู้นำโดยการเจิมด้วยน้ำมัน
ลูกหลาน: ในรายชื่อบรรพบุรุษนี้ คำว่า “ลูกหลาน” อาจหมายถึงลูกชาย หลานชาย หรือลูกหลานรุ่นต่อ ๆ มาก็ได้
ลูกหลานของดาวิด: คำนี้แสดงว่าพระเยซูเป็นผู้รับมรดกตามสัญญาเรื่องรัฐบาลที่พระเจ้าทำกับดาวิด สัญญานี้จะเป็นจริงโดยลูกหลานคนหนึ่งของดาวิด—2ซม 7:11-16; สด 89:3, 4
ลูกหลานของ . . . อับราฮัม: เนื่องจากมัทธิวคิดถึงผู้อ่านที่เป็นชาวยิว เขาจึงเริ่มต้นการลำดับเชื้อสายของพระเยซูโดยเน้นว่าพระเยซูเป็นลูกหลานตามกฎหมายของอับราฮัม หรือเป็นลูกหลานที่พระเจ้าสัญญาไว้กับอับราฮัมซึ่งจะทำให้คนทุกชาติได้รับพร
มีลูกชายชื่อ: แปลตรงตัวว่า “ให้กำเนิด, ทำให้มี” คำนี้ไม่ได้หมายถึงแค่การเป็นพ่อเท่านั้น แต่หมายถึงการเป็นปู่หรือเป็นบรรพบุรุษด้วย—มธ 1:8, 11
ทามาร์: ผู้หญิงคนแรกในจำนวน 5 คนที่มีชื่ออยู่ในรายชื่อบรรพบุรุษของเมสสิยาห์ในบันทึกของมัทธิว อีก 4 คนคือ ราหับกับรูธ ซึ่งไม่ใช่คนอิสราเอล (ข้อ 5) บัทเชบา ซึ่ง “เคยเป็นภรรยาของอุรีอาห์” (ข้อ 6) และมารีย์ (ข้อ 16) เหตุผลที่มีชื่อของผู้หญิงเหล่านี้อยู่ในรายชื่อของผู้ชายที่เป็นบรรพบุรุษ อาจเป็นเพราะเหตุการณ์ที่ทำให้พวกเธอได้มาเป็นบรรพบุรุษของพระเยซูมีบางอย่างที่น่าสนใจ
กษัตริย์ชื่อดาวิด: แม้ในรายชื่อบรรพบุรุษนี้จะพูดถึงกษัตริย์หลายองค์ แต่ดาวิดเป็นคนเดียวที่มัทธิวใส่คำนำหน้าว่า “กษัตริย์” และมีการเรียกราชวงศ์ของอิสราเอลว่า “ราชวงศ์ดาวิด” (1พก 12:19, 20) มัทธิวเรียกพระเยซูว่า “ลูกหลานของดาวิด” ในข้อ 1 เพื่อเน้นเรื่องรัฐบาลของพระเจ้าซึ่งเป็นเรื่องหลักในคัมภีร์ไบเบิล และระบุว่าพระเยซูจะได้รับตำแหน่งกษัตริย์เป็นมรดกตามสัญญาที่พระเจ้าทำกับดาวิด—2ซม 7:11-16
ภรรยาของอุรีอาห์: หมายถึงบัทเชบา ภรรยาของอุรีอาห์ชาวฮิตไทต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักรบชาวต่างชาติของดาวิด—2ซม 11:3; 23:8, 39
เยโฮรัมมีลูกชายชื่ออุสซียาห์: หมายถึงเยโฮรัมเป็นบรรพบุรุษของอุสซียาห์ ลำดับวงศ์ตระกูลในคัมภีร์ไบเบิลมักใช้คำว่า “มีลูก” เพื่อหมายถึงการเป็นบรรพบุรุษของใครคนหนึ่ง เมื่อเทียบกับ 1พศ 3:11, 12 จะเห็นว่ามัทธิวไม่ได้ใส่ชื่อกษัตริย์ที่ชั่วร้าย 3 คน (อาหัสยาห์ เยโฮอาช และอามาซิยาห์) ในราชวงศ์ดาวิดซึ่งอยู่ระหว่างเยโฮรัมกับอุสซียาห์ (เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อาซาริยาห์)
มีลูกชายชื่อ: ในข้อนี้หมายถึง “เป็นปู่ของ” เพราะจริง ๆ แล้วโยสิยาห์เป็นพ่อของเยโฮยาคิม และเยโฮยาคิมเป็นพ่อของเยโคนิยาห์ (บางครั้งเรียกว่าเยโฮยาคีน หรือโคนิยาห์)—2พก 24:6; 1พศ 3:15-17; อสธ 2:6; ยรม 22:24
เชอัลทิเอลมีลูกชายชื่อเศรุบบาเบล: แม้มีหลายข้อบอกว่าเชอัลทิเอลเป็นพ่อของเศรุบบาเบล (อสร 3:2, 8; 5:2; นหม 12:1; ฮกก 1:1, 12, 14; 2:2, 23; ลก 3:27) แต่มีข้อหนึ่งที่บอกว่าเปดายาห์น้องของเชอัลทิเอลเป็นพ่อของเศรุบบาเบล (1พศ 3:19) เศรุบบาเบลจึงอาจเป็นลูกจริง ๆ ของเปดายาห์ แต่ดูเหมือนตามกฎหมายแล้วถือว่าเศรุบบาเบลเป็นลูกของเชอัลทิเอล—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ลก 3:27
โยเซฟ: เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างโยเซฟกับพระเยซู บันทึกของมัทธิวไม่ได้ใช้คำว่า “มีลูกชายชื่อ” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:2) แต่บอกว่าโยเซฟเป็นสามีของมารีย์ และพระเยซู . . . ก็เกิดมาจากมารีย์คนนี้ ดังนั้น รายชื่อบรรพบุรุษในหนังสือมัทธิวจึงเน้นว่าแม้พระเยซูไม่ใช่ลูกจริง ๆ ของโยเซฟ แต่พระเยซูก็เป็นลูกเลี้ยง ซึ่งทำให้ท่านเป็นลูกหลานตามกฎหมายของดาวิด ส่วนรายชื่อบรรพบุรุษในหนังสือลูกาเน้นว่าพระเยซูเป็นลูกหลานโดยสายเลือดของดาวิดผ่านทางมารีย์แม่ของท่าน
พระคริสต์: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1 และส่วนอธิบายศัพท์
หมั้นหมาย: สำหรับชาวยิว การ “หมั้นหมาย” เป็นสัญญาที่มีผลผูกมัดอย่างจริงจัง ผู้ชายกับผู้หญิงที่หมั้นกันจะถูกมองเหมือนว่าแต่งงานกันแล้ว แม้พวกเขายังไม่ได้อยู่ด้วยกันแบบสามีภรรยาจนกว่าจะทำพิธีแต่งงานกัน
พลัง: นี่เป็นครั้งแรกที่มีการใช้คำกรีก พะนือมา ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก คำนี้ที่อยู่ในข้อนี้หมายถึงพลังที่พระเจ้าใช้เพื่อทำสิ่งต่าง ๆ—ดูส่วนอธิบายศัพท์
คู่หมั้น . . . ถอนหมั้น: แปลตรงตัวว่า “สามี . . . หย่า” เนื่องจากคนที่หมั้นกันถูกมองเหมือนว่าแต่งงานกันแล้ว จึงบอกได้ว่าโยเซฟเป็นสามีของมารีย์ และมารีย์เป็นภรรยาของโยเซฟ (มธ 1:20) เพื่อจะถอนหมั้นได้จึงต้องมีการหย่า
พระยะโฮวา: ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกของฉบับแปลนี้ ชื่อ “ยะโฮวา” ปรากฏที่นี่เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 237 ครั้ง
ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา: มีการใช้คำนี้หลายครั้งในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู ครั้งแรกคือที่ ปฐก 16:7 นอกจากนั้น ในสำเนาของฉบับเซปตัวจินต์ ยุคแรก ๆ มีการใช้คำกรีก อางเกะลอส (ทูตสวรรค์, ผู้ส่งข่าว) ตามด้วยชื่อพระเจ้าที่เขียนด้วยอักษรฮีบรู ตัวอย่างหนึ่งคือข้อความที่ ศคย 3:5, 6 ในสำเนาของฉบับเซปตัวจินต์ ที่พบในนาฮาล เฮเวอร์ประเทศอิสราเอล สำเนานี้ทำขึ้นระหว่างปี 50 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 50 ในคัมภีร์ไบเบิลหลายฉบับยังคงใช้ชื่อพระเจ้าเมื่อมีการแปลคำว่า “ทูตสวรรค์ของพระยะโฮวา” ในข้อนี้—ดูภาคผนวก ก5
ลูกหลานของดาวิด: ทูตสวรรค์เรียกโยเซฟว่า “ลูกหลานของดาวิด” เพื่อเตรียมเขาให้พร้อมสำหรับสิ่งที่กำลังจะได้ยิน การเรียกแบบนี้เป็นการเตือนเขาให้คิดถึงสัญญาที่พระเจ้าทำกับดาวิด—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:1, 6
แต่งงานกับมารีย์: หรือ “พามารีย์ภรรยาของคุณมาอยู่ที่บ้าน” ตามธรรมเนียมของชาวยิว การแต่งงานเริ่มตั้งแต่ตอนที่หมั้นกัน และพิธีแต่งงานจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อสามีพาภรรยามาอยู่ที่บ้าน ตามปกติจะมีการทำแบบนั้นในวันที่กำหนดไว้และจะมีการจัดงานเลี้ยงด้วย การทำอย่างนี้เป็นการประกาศให้คนอื่นรู้ว่าผู้ชายได้รับผู้หญิงมาเป็นคู่ชีวิต การแต่งงานของพวกเขาจึงเป็นที่รับรู้ มีการบันทึกไว้ และเป็นการผูกมัดอย่างจริงจัง—ปฐก 24:67; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:18, 19
ตั้งท้อง: หรือ “ทำให้เกิด” แปลตรงตัวว่า “ให้กำเนิด, ทำให้มี” มีการแปลคำกรีกเดียวกันว่า “เกิด” ในข้อ 16 และแปลว่า “มีลูกชายชื่อ” ในข้อ 2-16—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:2
เยซู: ตรงกับชื่อ เยชูอา หรือ โยชูวา ในภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นชื่อสั้นของ เยโฮชูวา ที่แปลว่า “พระยะโฮวาเป็นความรอด”
เกิดขึ้นตามที่พระยะโฮวาพูดไว้ผ่านผู้พยากรณ์ของพระองค์: ในหนังสือข่าวดีของมัทธิวมีการใช้สำนวนนี้และสำนวนคล้าย ๆ กันหลายครั้ง ดูเหมือนเป็นการเน้นกับผู้ฟังชาวยิวว่าพระเยซูเป็นเมสสิยาห์ที่พระเจ้าสัญญาไว้—มธ 2:15, 23; 4:14; 8:17; 12:17; 13:35; 21:4; 26:56; 27:9
พระยะโฮวา: ข้อความในเครื่องหมายคำพูดในประโยคแรกของข้อ 23 ยกมาจาก อสย 7:14 ซึ่งบอกว่าพระยะโฮวาเป็นผู้ให้หลักฐานยืนยันนี้ นี่เป็นครั้งแรกที่มัทธิวยกข้อความจากพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรู
คอยดูเถอะ: คำกรีก อีดู่ ที่แปลในข้อนี้ว่า “คอยดูเถอะ” มักใช้เพื่อกระตุ้นให้สนใจเรื่องที่กำลังจะพูด ให้นึกภาพเหตุการณ์หรือสนใจรายละเอียดบางอย่าง และยังใช้เพื่อเน้น หรือชี้ให้เห็นว่ามีอะไรใหม่หรือน่าตื่นเต้น ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกจะพบคำแบบนี้บ่อยที่สุดในหนังสือข่าวดีของมัทธิว ลูกา และหนังสือวิวรณ์ ในพระคัมภีร์ภาคภาษาฮีบรูก็มักใช้คำคล้าย ๆ กันนี้ด้วย
สาวบริสุทธิ์: มัทธิวยกข้อความนี้จาก อสย 7:14 ของฉบับเซปตัวจินต์ ในข้อนั้นใช้คำกรีก พาร์เธะนอส ซึ่งหมายถึง “คนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์” เพื่อแปลคำภาษาฮีบรู อัลมาห์ ซึ่งเป็นคำกว้าง ๆ ที่อาจหมายถึง “สาวบริสุทธิ์” หรือ “หญิงสาว” มัทธิวซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้าใช้คำกรีกนี้ที่แปลว่า “สาวบริสุทธิ์” เมื่อพูดถึงแม่ของพระเยซู
อิมมานูเอล: ชื่อฮีบรูนี้มีอยู่ใน อสย 7:14; 8:8, 10 อิมมานูเอลเป็นทั้งชื่อและตำแหน่งที่มีความหมายเชิงพยากรณ์ ซึ่งใช้กับคนที่จะเป็นเมสสิยาห์
พระยะโฮวา: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 1:20
ไม่มีเพศสัมพันธ์กับ: แปลตรงตัวว่า “ไม่รู้” สำหรับภาษากรีกที่ใช้ในคัมภีร์ไบเบิล คำกริยา “รู้” อาจใช้เป็นคำพูดอ้อม ๆ ที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งในภาษาฮีบรู คำกริยา “รู้” ก็มีความหมายทำนองนี้ด้วย มีการแปลคำนี้ว่า “มีเพศสัมพันธ์” ที่ ปฐก 4:1 และ 1ซม 1:19 และในข้ออื่น ๆ
วีดีโอและรูปภาพ
เหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลาเท่าที่เป็นไปได้
แผนที่ของหนังสือข่าวดีแต่ละเล่มให้ข้อมูลของเหตุการณ์แตกต่างกัน
1. พระเยซูเกิดที่เมืองเบธเลเฮม (มธ 2:1; ลก 2:4-6)
2. พระเยซูถูกซาตานล่อใจในที่กันดารยูเดีย (มธ 4:1-3; มก 1:12, 13; ลก 4:1-4)
3. พระเยซูเดินทางประกาศในแคว้นกาลิลีรอบแรก ท่านพาสาวก 4 คนแรกไปด้วย ท่านอาจเริ่มประกาศใกล้เมืองคาเปอร์นาอุม (มธ 4:23; มก 1:38, 39; ลก 4:42, 43)
4. ในเขตเมืองคาเปอร์นาอุม พระเยซูเชิญมัทธิวมารับใช้กับท่าน (มธ 9:9; มก 2:14; ลก 5:27, 28)
5. พระเยซูบรรยายบนภูเขาใกล้เมืองคาเปอร์นาอุม (มธ 5:1, 2; ลก 6:17, 20)
6. ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี พระเยซูเจอผู้ชายที่ถูกปีศาจสิง ท่านไล่ปีศาจพวกนั้นไปสิงอยู่ในฝูงหมู (มธ 8:28, 31, 32; มก 5:1, 2, 11-13; ลก 8:26, 27, 32, 33)
7. ผู้คนในเมืองนาซาเร็ธบ้านเกิดของพระเยซูไม่ยอมรับท่าน (มธ 13:54-57; มก 6:1-3)
8. พระเยซูเดินทางประกาศในแคว้นกาลิลีรอบที่ 3 ท่านอาจเริ่มประกาศใกล้ ๆ เมืองนาซาเร็ธ (มธ 9:35, 37, 38; มก 6:6, 7; ลก 9:1, 2)
9. ยอห์นผู้ให้บัพติศมาถูกฆ่า อาจเป็นที่เมืองทิเบเรียส (มธ 14:10; มก 6:27)
10. หลังจากเดินทางประกาศทั่วเขตไทระกับไซดอน พระเยซูเลี้ยงอาหารผู้ชายประมาณ 4,000 คนที่ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี (มธ 15:29, 36-38; มก 8:1, 2, 6, 9)
11. พระเยซูไปที่เขตมากาดาน พวกฟาริสีกับพวกสะดูสีขอให้ท่านทำการอัศจรรย์ในท้องฟ้าให้พวกเขาเห็น (มธ 15:39; 16:1, 2, 4; มก 8:10-12)
12. ในเขตซีซารียาฟีลิปปี เปโตรบอกว่าพระเยซูเป็นพระคริสต์ พระเยซูสัญญาว่าเปโตรจะได้รับลูกกุญแจของรัฐบาลสวรรค์ (มธ 16:13-16, 19)
13. การเปลี่ยนรูปกายของพระเยซูอาจเกิดขึ้นที่เนินใดเนินหนึ่งของภูเขาเฮอร์โมน (มธ 17:1, 2; มก 9:2, 3; ลก 9:28, 29)
14. พระเยซูบอกล่วงหน้าอีกครั้งว่าท่านจะตายและจะฟื้นขึ้นจากตาย ท่านอาจพูดเรื่องนี้ตอนอยู่ที่พีเรีย (มธ 20:17-19; มก 10:32-34; ลก 18:31-33)
15. พระเยซูมาถึงหมู่บ้านเบธานี มารีย์เทน้ำมันลงบนเท้าของท่าน (มธ 26:6, 7, 12, 13; มก 14:3, 8, 9; ยน 12:1, 3, 7, 8)
16. บนภูเขามะกอก พวกสาวกถามพระเยซูว่าอะไรเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าท่านประทับอยู่ (มธ 24:3; มก 13:3, 4; ลก 21:7)
17. ในเยรูซาเล็ม พระเยซูตั้งอาหารมื้อเย็นของพระคริสต์ (มธ 26:26-28; มก 14:22-24; ลก 22:19, 20)
18. ยูดาสรู้สึกเสียใจและผูกคอตาย พวกปุโรหิตซื้อทุ่งแห่งหนึ่งที่ต่อมาเรียกว่าทุ่งเลือด (อาเคลดามา) (มธ 27:3-8)
19. พระเยซูยืนอยู่ต่อหน้าปีลาตในบ้านผู้ว่าราชการ (มธ 27:11-14; มก 15:1, 2; ลก 23:1-3; ยน 18:33, 36, 37)
20. พระเยซูถูกฝัง (มธ 27:57-60; มก 15:43-46; ลก 23:50, 52, 53; ยน 19:38, 40-42)
21. ในแคว้นกาลิลี พระเยซูสั่งให้ออกไปสอนคนให้เป็นสาวก (มธ 28:16-20)
ในอิสราเอลสมัยศตวรรษแรก วิธีสร้างบ้านจะแตกต่างกันไปตามฐานะทางการเงินของเจ้าของบ้านและวัสดุที่หาได้ บ้านหลังเล็กส่วนใหญ่จะก่อด้วยอิฐที่ทำจากดินเหนียวตากแห้งหรือหินที่สกัดแบบหยาบ ๆ ผนังด้านในมักจะฉาบด้วยปูน พื้นเป็นดินอัดแน่นจนแข็ง แต่บางหลังก็ปูพื้นด้วยหิน หลังคาที่แบนเหมือนดาดฟ้าทำจากดินเหนียวทับอยู่บนกิ่งไม้ ไม้อ้อ และท่อนไม้ซึ่งพาดอยู่บนคานและมีเสารองรับ บนดาดฟ้าจะฉาบปูนทับอีกชั้นหนึ่งเพื่อกันน้ำ คนที่อยู่ในบ้านสามารถขึ้นไปบนดาดฟ้าโดยใช้บันได แต่บ้านที่ฐานะยากจนจะมีบันไดพาดอยู่ข้างนอก และแทบไม่มีเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน