เขียนโดยยอห์น 21:1-25
ข้อมูลสำหรับศึกษา
ลูก ๆ: หรือ “เด็กเล็ก ๆ” คำกรีก ไพดิออน (รูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็กของคำว่า ไพส “เด็ก”) เป็นวิธีเรียกที่แสดงความรักและความห่วงใยแบบที่พ่อมีต่อลูก มีการใช้คำนี้ในข้อนี้เพื่อแสดงถึงความรักใคร่สนิทสนม
มีอะไรกินบ้างไหม?: หรือ “มีปลาบ้างไหม?” คำกรีก พะรอสฟากิออน มีแค่ที่นี่ที่เดียวในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีก ในหนังสืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่พระคัมภีร์มักใช้คำนี้เพื่อหมายถึงสิ่งที่กินคู่กับขนมปัง ในท้องเรื่องนี้พระเยซูถามสาวกที่เป็นชาวประมง คำนี้จึงน่าจะหมายถึงปลา
สาวกคนที่พระเยซูรัก: คือสาวกที่พระเยซูรักเป็นพิเศษ นี่เป็นครั้งที่ 4 ในทั้งหมด 5 ครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงสาวกคนนี้ ซึ่งครั้งอื่นก็พูดถึงเขาว่า “สาวกคนหนึ่งที่พระเยซูรัก” “สาวกที่ท่าน [หรือ “พระเยซู”] รัก” หรือ “สาวกคนนั้นที่พระเยซูรัก” (ยน 13:23; 19:26; 20:2; 21:7, 20) เชื่อกันว่าสาวกคนนี้คืออัครสาวกยอห์นลูกของเศเบดี และเป็นพี่น้องกับยากอบ—มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10; ยน 21:2; เหตุผลในเรื่องนี้อยู่ที่ข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23; 21:20
ถอดเสื้อ: หรือ “ใส่เสื้อผ้าน้อย” คำกรีก กูมน็อส อาจมีความหมายว่า “ใส่เสื้อผ้าน้อย, ใส่แต่เสื้อตัวใน”—ยก 2:15; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 25:36
ประมาณ 90 เมตร: แปลตรงตัวว่า “ประมาณ 200 ศอก” คำกรีก เพฆูส (แปลว่า “ศอก” ที่ มธ 6:27, เชิงอรรถ; ลก 12:25, เชิงอรรถ; วว 21:17) หมายถึงหน่วยวัดที่มีความยาวประมาณข้อศอกไปจนถึงปลายนิ้วกลาง ระยะหนึ่งศอกของชาวอิสราเอลยาวประมาณ 44.5 ซม.—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “ศอก” และภาคผนวก ข14
พระเยซูถามซีโมนเปโตร: การคุยกันระหว่างพระเยซูกับเปโตรครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากเปโตรปฏิเสธพระเยซู 3 ครั้ง ในท้องเรื่องนี้พระเยซูถามย้ำถึง 3 ครั้งว่าเปโตรรู้สึกอย่างไรกับท่านจน “เปโตรรู้สึกทุกข์ใจ” (ยน 21:17) บันทึกของยอห์นที่ ยน 21:15-17 ใช้คำกริยากรีก 2 คำที่แตกต่างกันคือ อากาพาโอ และ ฟิเละโอ แต่ทั้ง 2 คำก็แปลว่ารัก พระเยซูถามเปโตร 2 ครั้งว่า “คุณรัก (อากาพาโอ) ผมไหม?” และทั้งสองครั้งเปโตรก็ยืนยันอย่างมั่นใจว่าเขา “รัก” พระเยซู แล้วพระเยซูก็ถามเป็นครั้งที่ 3 ว่า “คุณรัก (ฟิเละโอ) ผมไหม?” และเปโตรก็ยืนยันอีกครั้งว่าเขารักท่าน ทุกครั้งที่เปโตรตอบกลับมาพระเยซูเน้นว่าความรักนั้นควรกระตุ้นเปโตรให้เลี้ยงและ “ดูแล” สาวกของท่านด้านความเชื่อ ซึ่งในข้อนี้พระเยซูเรียกพวกสาวกว่าลูกแกะหรือ “แกะตัวเล็ก ๆ” ของท่าน (ยน 21:16, 17; 1ปต 5:1-3) พระเยซูให้โอกาสเปโตรยืนยันความรักที่มีต่อท่านถึง 3 ครั้ง แล้วท่านก็มอบหมายให้เขาดูแลแกะหรือสาวกของท่าน การที่พระเยซูทำอย่างนี้ทำให้เห็นชัดว่าท่านให้อภัยเปโตรที่เคยปฏิเสธท่าน 3 ครั้ง
ยอห์น: สำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่บางฉบับบอกว่าพ่อของอัครสาวกเปโตรชื่อยอห์น ส่วนสำเนาพระคัมภีร์เก่าแก่อื่น ๆ บอกว่าเขาชื่อโยนา ใน มธ 16:17 พระเยซูเรียกเปโตรว่า “ซีโมนลูกโยนาห์” (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ มธ 16:17) ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าชื่อยอห์นกับโยนา(ห์) ซึ่งเป็นชื่อกรีกอาจมาจากชื่อฮีบรูเดียวกันแต่สะกดต่างกัน
คุณรักผมมากกว่าปลาพวกนี้ไหม?: ตามหลักไวยากรณ์ วลีที่ว่า “มากกว่าปลาพวกนี้” สามารถเข้าใจได้หลายแบบ นักวิชาการบางคนคิดว่าคำถามนี้มีความหมายว่า “คุณรักผมมากกว่าสาวกเหล่านี้ไหม?” หรือ “คุณรักผมมากกว่าที่สาวกเหล่านี้รักผมไหม?” อย่างไรก็ตาม ความหมายที่น่าจะถูกต้องคือ “คุณรักผมมากกว่าสิ่งเหล่านี้ไหม?” ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คือปลาที่พวกเขาจับมาได้หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจจับปลา ดังนั้น แนวคิดโดยรวมของข้อนี้น่าจะเป็น ‘คุณรักผมมากกว่าสมบัติวัตถุหรือความต้องการของคุณเองไหม? ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ให้เลี้ยงลูกแกะของผม’ คำถามนี้เหมาะมากถ้าคิดถึงอดีตของเปโตร แม้เขาจะเป็นหนึ่งในสาวกคนแรก ๆ ของพระเยซู (ยน 1:35-42) แต่เขาก็ไม่ได้ทิ้งทุกอย่างทันทีเพื่อติดตามพระเยซูเพราะในที่สุดเขาก็กลับไปจับปลาอีก หลายเดือนต่อมาพระเยซูบอกให้เปโตรทิ้งธุรกิจที่มีความมั่นคงเพื่อ “ไปหาคนแทนที่จะหาปลา” (มธ 4:18-20; ลก 5:1-11) และอีกครั้งหลังจากที่พระเยซูเสียชีวิตได้ไม่นาน เปโตรก็บอกว่าเขาจะไปจับปลา แล้วอัครสาวกคนอื่น ๆ ก็ไปกับเขาด้วย (ยน 21:2, 3) ดังนั้น ดูเหมือนว่าพระเยซูกำลังเน้นกับเปโตรว่าเขาต้องตัดสินใจว่าจะให้อะไรสำคัญที่สุดในชีวิต อาชีพจับปลาและธุรกิจของเขาซึ่งเปรียบได้กับปลาพวกนี้ที่อยู่ตรงหน้า หรือจะดูแลลูกแกะซึ่งก็คือสาวกของพระเยซู—ยน 21:4-8
รัก . . . รัก: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 21:15
แกะตัวเล็ก ๆ: มีการแปลคำกรีก พรอบาทอน ในข้อนี้และในข้อ 17 ว่า “แกะตัวเล็ก ๆ” เพราะคำนี้อยู่ในรูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็กของคำกรีกที่แปลว่า “แกะ” ในพระคัมภีร์คริสเตียนภาคภาษากรีกมักมีการใช้คำที่สื่อถึงขนาดเล็กเพื่อแสดงถึงความรักใคร่เอ็นดูและความสนิทสนมคุ้นเคย—ดูส่วนอธิบายศัพท์คำว่า “รูปคำที่สื่อถึงขนาดเล็ก”
ครั้งที่สาม: เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูนายของเขา 3 ครั้ง แต่ตอนนี้ท่านให้โอกาสเปโตรยืนยันความรู้สึกของเขา 3 ครั้งเช่นกัน หลังจากเปโตรพูดถึงความรู้สึกของเขา พระเยซูก็บอกเขาว่าให้แสดงความรักออกมาโดยให้งานรับใช้ที่ศักดิ์สิทธิ์มาเป็นอันดับแรกในชีวิต ดังนั้น เปโตรรวมทั้งพี่น้องชายคนอื่น ๆ ต้องเลี้ยง ให้กำลังใจ และดูแลฝูงแกะของพระคริสต์ซึ่งก็คือสาวกที่ซื่อสัตย์ แม้สาวกเหล่านี้จะเป็นผู้ถูกเจิม แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูทางความเชื่อ—ลก 22:32
ยอห์น: ตรงกับชื่อภาษาฮีบรูเยโฮฮานัน หรือโยฮานัน ซึ่งหมายความว่า “พระยะโฮวาแสดงความโปรดปราน, พระยะโฮวากรุณา” ผู้เขียนหนังสือข่าวดีนี้ไม่ได้บอกว่าเขาชื่ออะไร แต่พอถึงศตวรรษที่ 2 หรือ 3 คนทั่วไปก็เชื่อกันว่าอัครสาวกยอห์นเป็นผู้เขียน ทุกครั้งที่มีการพูดถึงชื่อยอห์นในหนังสือข่าวดีนี้ก็จะหมายถึงยอห์นผู้ให้บัพติศมา ยกเว้นสองที่คือใน ยน 1:42 และ 21:15-17 ซึ่งพระเยซูพูดถึงยอห์นที่เป็นพ่อของเปโตร (ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ 1:42 และ 21:15) ถึงแม้ไม่มีการพูดถึงชื่อของอัครสาวกยอห์น แต่มีการพูดถึงเขาและยากอบพี่น้องของเขาว่าเป็น ‘ลูกของเศเบดี’ (ยน 21:2; มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10; ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 1:6) ในตอนท้าย ๆ ของหนังสือข่าวดีนี้ ผู้เขียนพูดถึงตัวเองว่าเป็น “สาวกคนที่พระเยซูรัก” (ยน 21:20-24) และมีเหตุผลหลายอย่างที่จะสรุปว่าคำพูดนี้หมายถึงอัครสาวกยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23
สาวกคนที่พระเยซูรัก: คือสาวกที่พระเยซูรักเป็นพิเศษ นี่เป็นครั้งสุดท้ายในทั้งหมด 5 ครั้งที่พระคัมภีร์พูดถึงสาวกคนนี้ ซึ่งครั้งอื่นก็พูดถึงเขาว่า “สาวกคนหนึ่งที่พระเยซูรัก” “สาวกที่ท่าน [หรือ “พระเยซู”] รัก” หรือ “สาวกคนนั้นที่พระเยซูรัก” (ยน 13:23; 19:26; 20:2; 21:7, 20) เชื่อกันว่าสาวกคนนี้คืออัครสาวกยอห์นลูกของเศเบดี และเป็นพี่น้องกับยากอบ (มธ 4:21; มก 1:19; ลก 5:10; ยน 21:2) ท้องเรื่องของ ยน 21:20-24 แสดงให้เห็นว่า “สาวกคนที่พระเยซูรัก” เป็นคนเดียวกับ ‘สาวกคนนี้ที่เขียน’ หนังสือข่าวดีของยอห์น—ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ชื่อหนังสือยอห์น; 1:6; 13:23
คนที่นั่งเอนตัวใกล้กับอกของพระเยซู: ดูข้อมูลสำหรับศึกษาที่ ยน 13:23
จนถึงตอนที่ผมมา: คำพูดนี้ของพระเยซูคงทำให้อัครสาวกคนอื่น ๆ เข้าใจว่าอัครสาวกยอห์นจะอายุยืนกว่าพวกเขา ที่จริง ยอห์นรับใช้อย่างซื่อสัตย์ต่อจากนั้นอีกเกือบ 70 ปีและดูเหมือนเป็นอัครสาวกคนสุดท้ายที่เสียชีวิต นอกจากนั้น คำพูดที่ว่า “จนถึงตอนที่ผมมา” อาจทำให้พวกสาวกคิดถึงคำพูดของพระเยซูที่บอกว่า “‘ลูกมนุษย์’ ได้รับอำนาจในรัฐบาลของท่าน” (มธ 16:28) ยอห์นได้อยู่จนถึงตอนที่พระเยซูมาในแง่ที่ว่า ช่วงที่เขาแก่มากแล้วและถูกเนรเทศไปอยู่เกาะปัทมอส เขาได้เห็นนิมิตที่น่าตื่นเต้นซึ่งมีความหมายเชิงพยากรณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นใน “วันของผู้เป็นนาย” ซึ่งหมายถึงตอนที่พระเยซูจะมาในฐานะกษัตริย์ที่มีอำนาจ ยอห์นรู้สึกประทับใจมากที่ได้เห็นนิมิตที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ จนเมื่อพระเยซูบอกว่า “ผมจะรีบมา” ยอห์นก็อุทานว่า “อาเมน เชิญมาเถอะพระเยซูผู้เป็นนาย”—วว 1:1, 9, 10; 22:20
พระเยซูยังทำอะไรอีกมากมาย: ยอห์นใช้อติพจน์หรือคำพูดเกินจริงตอนที่เขียนว่าโลกนี้คงไม่มีที่พอจะเก็บม้วนหนังสือ (รูปแบบของหนังสือในสมัยนั้น) ทั้งหมดที่มีรายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับชีวิตและงานรับใช้ของพระเยซู คำกรีกที่ยอห์นใช้ซึ่งในข้อนี้แปลว่า “โลก” (คอสม็อส) น่าจะมีความหมายกว้าง ๆ คือหมายถึงสังคมมนุษย์ทั้งหมด (รวมทั้งห้องสมุดที่มีอยู่ในตอนนั้น) ถึงแม้ว่าบางครั้งหนังสือภาษากรีกทั่วไปจะใช้คำนี้เพื่อหมายถึงเอกภพทั้งหมด (เทียบกับข้อมูลสำหรับศึกษาที่ กจ 17:24) คำพูดของยอห์นจึงหมายความว่ายังมีอีกหลายอย่างที่จะเขียนได้ แต่สิ่งที่เขียนไว้ใน “ม้วนหนังสือ” ของเขาและส่วนอื่นของพระคัมภีร์ที่มีขึ้นโดยการดลใจก็มากพอแล้วที่จะพิสูจน์ว่า “พระเยซูเป็นพระคริสต์ ลูกของพระเจ้า” (ยน 20:30, 31) ถึงแม้บันทึกของยอห์นจะค่อนข้างสั้น แต่ก็ช่วยให้เราเห็นบุคลิกที่งดงามของพระเยซูลูกของพระเจ้าอย่างชัดเจน
วีดีโอและรูปภาพ
ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นในปี 1985-1986 ทำให้น้ำในทะเลสาบกาลิลีลดลงจนเห็นซากเรือที่จมอยู่ในโคลน ซากเรือนี้ยาว 8.2 เมตร กว้าง 2.3 เมตร และท้องเรือส่วนที่ลึกที่สุดมีความลึก 1.3 เมตร นักโบราณคดีบอกว่าเรือนี้ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี 100 ก่อน ค.ศ. ถึงปี ค.ศ. 100 วีดีโอนี้แสดงให้เห็นแบบจำลองเรือลำนี้ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในอิสราเอล เรือน่าจะมีลักษณะแบบนี้ตอนที่มันอยู่ในทะเลสาบกาลิลีเมื่อประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว
ภาพจำลองนี้มีต้นแบบมาจากซากเรือหาปลาในศตวรรษแรกที่พบในโคลนใกล้ชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี และอาศัยข้อมูลจากภาพโมเสกที่พบในบ้านหลังหนึ่งสมัยศตวรรษแรกในเมืองมิกดัลที่อยู่ติดทะเล เรือแบบนี้อาจมีเสากระโดงหนึ่งต้นและใบเรือ อาจมีชาวประมงอยู่ในเรือ 5 คน มี 4 คนทำหน้าที่พายเรือ และอีก 1 คนคอยคัดท้ายเรือโดยยืนอยู่บนแผ่นไม้เล็ก ๆ ท้ายเรือ เรือนี้ยาวประมาณ 8 เมตร กลางเรือกว้างประมาณ 2.5 เมตรและลึก 1.25 เมตร ดูเหมือนว่าเรือแบบนี้สามารถจุคนได้ 13 คนหรือมากกว่านั้น
คัมภีร์ไบเบิลพูดถึงบ่อย ๆ เกี่ยวกับปลา การจับปลา และชาวประมงในทะเลสาบกาลิลี มีปลาประมาณ 18 ชนิดในทะเลสาบนี้ ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 10 ชนิดที่ชาวประมงจับกัน และใน 10 ชนิดนี้สามารถแบ่งออกมาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามการซื้อขาย กลุ่มแรกคือปลาบินนี (binny) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันด้วยว่าปลาบาร์เบล (barbel, Barbus longiceps) (หมายเลข 1) ปลา 3 ชนิดในกลุ่มนี้มีหนวดที่มุมปากทั้งสองข้าง จึงมีชื่อในภาษาเซมิติกว่า บีนี ซึ่งหมายถึง “ขน” ปลากลุ่มนี้กินสัตว์จำพวกหอย หอยทาก และปลาเล็ก ๆ ปลาบาร์เบลหัวยาวมีความยาวประมาณ 75 ซม. และหนักมากกว่า 7 กก. กลุ่มที่ 2 คือปลามุชต์ (musht, Tilapia galilea) (หมายเลข 2) ซึ่งหมายถึง “หวี” ในภาษาอาหรับ เพราะปลา 5 ชนิดในกลุ่มนี้มีครีบหลังลักษณะคล้ายหวี ปลามุชต์ชนิดหนึ่งมีความยาวประมาณ 45 ซม. และหนักประมาณ 2 กก. กลุ่มที่ 3 คือปลาซาร์ดีนคินเนเรต (Kinneret sardine, Acanthobrama terrae sanctae) (หมายเลข 3) ซึ่งดูคล้ายกับปลาเฮอร์ริงตัวเล็ก ๆ ตั้งแต่สมัยโบราณมีการเก็บรักษาปลาซาร์ดีนชนิดนี้ไว้ด้วยการหมักดอง